คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง ที่ 53/2559 ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินการบริหารจัดการกับเรือประมงพาณิชย์ ที่มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับกรณีที่ คสช.ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกับเรือประมงพาณิชย์ ที่มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยจัดระเบียบการทำประมงของไทย ให้อยู่ในระดับสากลมากขึ้น
เนื่องจากที่ผ่านมา มีเรือประมงที่ผิดกฎหมาย อาทิ เรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง เรือที่ไม่ติด VMS ซึ่งเรือกลุ่มนี้อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะลักลอบออกไปทำประมง เนื่องจากเป็นเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมง แต่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการควบคุมเรือประมงพาณิชย์กลุ่มดังกล่าวอย่างชัดเจน
คสช.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงได้ออกคำสั่งเพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมเรือประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือ หรือมีทะเบียนเรือแต่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง จะต้องแจ้งจุดจอดเรือที่ชัดเจนและให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าในการล๊อคพังงา (เครื่องมือบังคับเรือ) เพื่อมิให้เรือเคลื่อนย้าย เว้นแต่เป็นการฉุกเฉิน จำเป็น และเจ้าของเรือเหล่านั้นจะต้องแจ้งการงดใช้เรือ หรือขอเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ มิฉะนั้นจะเป็นเหตุให้นายทะเบียนเรือจำหน่ายทะเบียนเรือออกจากระบบได้ โดยเจ้าของเรือที่ดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ซี่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปได้ จากเดิมที่เรือประมงถูกกฎหมายบังคับให้ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ทุกกรณี แม้ไม่ได้ออกทำการประมงก็ตาม แนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีเรือที่ไม่มีทะเบียนเรือหรือไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง ออกมาทำการประมงได้อีกต่อไป
คำสั่ง หัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการเพื่อดูแลสวัสดิภาพของแรงงานประมง โดยกำหนดห้ามการขนถ่ายลูกเรือกลางทะเล เว้นแต่กรณีเพื่อความปลอดภัย ข้อพิพาทในเรือ และเหตุสุดวิสัยต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงที่แรงงานประมงจะต้องถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงในทะเลนานเกินไป ซึ่งเป็นมาตรการเสริมจากการควบคุมการทำการประมงในปัจจุบันที่เรือประมงแต่ละลำจะทำการประมงได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีการแจ้งออกไปทำการประมงจากศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่างยังได้เพิ่มมาตรการในการให้อำนาจแก่กรมประมง และกรมเจ้าท่าในการเปรียบเทียบปรับ สำหรับ
กรณีผู้กระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ อันจะช่วยให้ผู้ต้องหาที่ยินยอมรับผิดตามกฎหมายสามารถยุติคดีโดยการเปรียบเทียบปรับได้ มีผลทำให้การดำเนินคดีอาญายุติลง ช่วยให้คดีต่างๆ สามารถเสร็จลุล่วงไปได้โดยเร็ว สำหรับกลุ่มเรือประมงนอกน่านน้ำที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตออกไปทำการประมงได้ตามคำสั่งฯ นี้ ก็สามารถใช้วิธีการเปรียบเทียบปรับที่กำหนดไว้นี้เพื่อยุติการดำเนินคดี และสามารถขอรับใบอนุญาตออกไปทำการประมงได้ต่อไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมประมง เร่งดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเข้มงวด และให้รีบปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายไปให้เกิดความรวดเร็ว และเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใส ตรวจสอบได้… ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit