นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 5 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 9 ตำบล แยกเป็น อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมถนนในอำเภอวารินชำราบ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ห้างแม็คโคร มีน้ำท่วมขัง ทั้งขาเข้า – ขาออก ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว ศรีสะเกษ เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอขุญหาญ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว ตราด เกิดดินสไลด์ในอำเภอเกาะช้าง บริเวณทางลงไปหาดทรายขาว และมีต้นไม้กีดขวางเส้นทางสัญจร ปัจจุบันสามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า และอำเภอขุนยวม ปัจจุบันระดับน้ำลดลง พะเยา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่ใจ และอำเภอเมืองพะเยาประชาชนได้รับผลกระทบ 500 หลังคาเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของอำเภอดอกคำใต้ ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นราอี (Rai) ที่เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญอ่อนกำลังลง เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางแล้ว และคาดว่าจะเคลื่อนไปปกคลุมภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตามลำดับ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัใยจึงได้ประสาน 32 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และอุทัยธานี ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตร และเพชรบูรณ์ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมอยู่แล้ว รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลังเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง อาทิ คอสะพาน เส้นทางน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำ และวางแผนพร่องน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยบูรณาการแผนการระบายน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th