“พลเมืองศรีสะเกษ” รุ่นใหม่ใส่ใจแผ่นดินเกิด

14 Sep 2016
ปลุก "สำนึก" เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 ลุกขึ้นมาพัฒนาบ้าน พัฒนาเมือง บนฐานความรู้ และภูมิปัญญาของเยาวชนศรีสะเกษที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการพร้อมเติบโตขึ้นมาเป็น "พลังพลเมืองรุ่นใหม่ที่ใส่ใจแผ่นดินเกิด" รองผู้ว่าฯ ชื่นชมเยาวชนลุกขึ้นมาเป็นแนวร่วมพัฒนาบ้านเกิด

วันที่ 10 และ 11 กันยายน 2559 ณ ลานกิจกรรมถนนคนเดินสถานีรถไฟจังหวัดศรีสะเกษ และห้องประชุมโรงแรมพรหมพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ซึ่งนับเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network ได้มีการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน "พลังคุณค่าเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ใส่ใจแผ่นดินเกิด" เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปีที่ 2 ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชน ในโครงการฯ ได้ลงมือคิดเอง ทำเอง และร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ ในฐานะพลังพลเมืองคนรุ่นใหม่ โดยมีนายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนักวิจัยชุมชน ภาคีเครือข่ายจากต่างจังหวัด เครือข่ายเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน

บรรยากาศของงานคึกคักตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน เริ่มด้วยการกล่าวพิธีน้อมจิตน้อมใจพลังเยาวชนพลเมืองดีบูชาบอกกล่าวหลักบ้านหลักเมือง และอนุสาวรีย์พระแม่ศรีสะเกศเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการทำความดีของเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ จากนั้นเยาวชนกว่า 200 คน เดินขบวนพาเหรดด้วยชุดแต่งกายประจำชนเผ่าและการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าต่อจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเชิญชวนคนเมืองศรีสะเกษให้เข้าร่วมงานมหกรรมการเรียนรู้ "พลังคุณค่าเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจแผ่นดินเกิด" ณ ลานกิจกรรมสถานีรถไฟจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อประชาสัมพันธ์งานให้กับประชาชนในเมืองศรีสะเกษได้รับทราบ และวันที่ 11 กันยายน เยี่ยชมนิทรรศการผลงานของเยาวชน และขบวนแห่ต้อนรับผู้ร่วมงานพลังสร้างสรรค์เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 พร้อมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นศรีสะเกษจากน้องๆเยาวชนทั้ง 16 โครงการ

นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวเปิดงานความตอนหนึ่ง ว่า "ผมเห็นถึงความตั้งใจของลูกหลานชาวศรีสะเกษของเรา ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์และองค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเชิงของศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ พัฒนาการความเป็นมาของสังคมและชุมชน รวมทั้งการพัฒนาอาชีพ และการสืบค้นภูมิปัญญา ซึ่งทุกท่านคงทราบดีแล้วว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นการส่งต่อมันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นนี้ที่จะส่งไปสู่คนรุ่นหลังๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นการก่อเกิดเป็นพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือที่น้องๆ เรียกว่า Active Citizen จึงถือเป็นพลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาชุมชน สังคม ท้องถิ่น ของเมืองศรีสะเกษร่วมกัน หวังว่าพลังและคุณค่าในการจัดงานครั้งนี้จะส่งผลต่อการปลูกฝัง สร้างสำนึกพลเมืองคนรุ่นใหม่ให้กับน้องๆ เยาวชน ถ้าหากเด็กศรีสะเกษของเราได้ตระหนักตรงนี้ว่า การที่เราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมเรียนรู้ ได้เข้าร่วมทำวิจัยชุมชน นั่นคือพื้นฐานที่จะทำให้เรารู้จักความเข้มแข็งของตนเอง เพื่อที่จะพึ่งพาตัวเองในด้านความคิดก่อน และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในกระบวนการของชุมชน การรับผลของการศึกษา การรับผลของการปฏิบัติ การสานถักทอเป็นเครือข่ายระหว่างเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษร่วมกับองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนก็ดี ภาคราชการก็ดี มูลนิธิก็ดี หรือแม้กระทั่งวัดวาอารามของเราก็ดี จะทำให้น้องลดการพึ่งพาจากภายนอกได้ ผมคิดว่าโครงการพลเมืองเยาวชนศรีสะเกษครั้งนี้จะเป็นการให้น้องๆ ได้เรียนรู้ ทำวิจัยเชิงสังคมอย่างง่ายๆ ก่อน เพื่อที่จะเป็นการปลูกฝังว่าคนเราจะแข็งแกร่งได้ ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก การจะพึ่งพาตนเองได้ต้องพึ่งพาเริ่มตั้งแต่ความคิดตัวเองก่อนที่จะคิดยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง"

ด้านผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้กล่าวถึง บทบาทเยาวชนกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ ว่า "เรามองว่าการสร้างเยาวชนครั้งนี้ให้เกิดคนเก่ง เห็นชัดแล้ว เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ได้เก่งแต่พูดอย่างเดียวนะ เก่งทำด้วย เก่งทำจนเห็นผลออกมาหลายตัว แต่ที่น่าสนใจลึกกว่านั้น มันมีเรื่องความดีแฝงอยู่ในความเก่ง ความเก่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความเก่งที่เห็นแก่ตัว แต่เป็นความเก่งที่เกิดขึ้นเพื่อส่วนรวม ก็หวังว่างานขยับต่อไปจะช่วยดึงคนศรีสะเกษ ศรีสะเกษคนเก่งคนดีมีเยอะจะมีโอกาสกลับมาช่วยบ้านเมืองของตัวเองร่วมกับหลานๆ เยาวชนได้อย่างไร เยาวชนคงไม่สามารถเป็นคนแก้ปัญหาประเทศชาติ ณ วันนี้ได้ทุกเรื่อง แต่เยาวชนอาจจะเริ่มมองเห็นแล้วว่าปัญหานี้ต้องแก้ไขร่วมมือกันกับใคร ต้องดึงใครเข้ามาร่วม ดึงงบประมาณจากไหนเข้ามาช่วย ต้องช่วยกันคิดช่วยกันหาทางออก ผมว่าด้วยรูปแบบแบบนี้จะเป็นตัวช่วยสร้างการเรียนรู้ การจะสร้างคนให้เริ่มรู้จักคิด เริ่มรู้จักค้นหาความรู้ของตัวเอง แล้วลงมือแก้ แล้วสรุปให้เห็นว่าวิธีการมันทำอย่างไร มันต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง ปีที่ 3 น่าจะเป็นปีที่เดินได้อย่างสง่า มั่นคง และยกระดับไปสู่การสื่อสารสังคม และยกระดับไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายได้ด้วย ปีหน้าน่าจะเห็นนโยบายที่เกิดขึ้นในบาง อบต. อาจจะมีงานของเยาวชนที่เกิดขึ้นในเชิงนโยบายของกลุ่มโรงเรียน นี่คือ ความหวังของประเทศชาติ"

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิต สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ริเริ่มโครงการ Active Citizen ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกสื่อสารสำหรับเปลี่ยนจิตสำนึกประชาชนให้เป็นจิตสำนึกใหม่ และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกต่อส่วนรวมด้วยตระหนักถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังท้าทายทั่วโลก เกิดคลื่นอารยธรรมของยุคที่ดำเนินเข้าสู่ความเป็นสังคมฐานความคิด ที่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลางและมีสุขภาวะองค์รวมเป็นเป้าหมาย ซึ่งในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้ประสานความร่วมมือและพัฒนางานร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยร่วมกันสร้างพลเมืองเยาวชนใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ศรีสะเกษ น่าน และ ภูมิภาคตะวันตก (กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี และ สมุทรสงคราม) ได้ถ่ายทอดแนวคิดวิธีการสร้าง Active Citizen โดยใช้วิธีเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชนและใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการสร้าง Active Citizen ที่มีทักษะและสำนึกต่อส่วนรวมที่อยู่ในเนื้อในตัวเยาวชนเป็นการบวนการทำงานเชิงลึก กับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ที่มีบทบาทสร้างการเรียนรู้ และสนับสนุนให้เกิด Active Citizen ในจังหวัด รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเป็นกำลังสร้าง Active Citizen ให้กับประเทศไทยที่เข้มแข็งและน่าอยู่ต่อไป..."

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกระบวนการสร้างคน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ว่า …. "เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อน โครงการ Active Citizen ที่มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา จาก "แนวคิด" การทำงานว่า ถ้ามูลนิธิฯ เข้าไปหนุนกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น Active Citizen ที่มีความห่วงใยบ้านเมือง มีความรู้ความเข้าใจในชุมชน หรือจังหวัดของตัวเอง มีเครือข่ายการทำางานในจังหวัดให้ทำหน้าที่ "สร้างคน" ด้วยการหนุนให้เขาเป็น พี่เลี้ยง (mentor) เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนคนหนุ่มสาวในจังหวัด โดย "เปิดโอกาส" ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และเข้าใจชุมชนเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ มูลนิธิฯ เชื่อว่าหากเขาได้มีโอกาสได้ทำงานเพื่อช่วยคลี่คลาย ปัญหาให้ชุมชน สิ่งนี้จะช่วยทำให้เยาวชน และคนหนุ่มคนสาวได้ประสบการณ์ชีวิต เกิดความเข้าใจ ในชุมชนตนเอง และค่อยๆ เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองเข้าถึงชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งน่าจะ เป็น "โมเดล" ที่ดีในการพัฒนาคนในจังหวัด…ในขณะเดียวกัน ถ้าส่งเด็กหนุ่มสาวกลุ่มนี้ออกไปนอกบ้าน เพื่อไปเรียนรู้ในจังหวัดอื่นๆ เขาก็จะมีประสบการณ์ชีวิต แต่มันเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เชื่อมโยงกับเรื่องเดิมที่เป็นประสบการณ์ชีวิตเดิมของเขา ดังนั้นความงอกงาม ความเติบโต และความรู้สึกผูกพัน ถึงแม้จะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดน้อยกว่าในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง"เยาวชนโครงการฯ ปีที่ 2 ต่างร่วมเล่าประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้จากการทำโครงการ เริ่มจาก …

หนิง-ศิริรัตน์ โพธิสาร นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา แกนนำเยาวชนโครงการสืบสานสะเนงสะเองกวย เผยว่า "ก่อนจะเข้าร่วมโครงการฯ หนูอยู่ในครอบครัวที่มีกรอบมาก พ่อกับแม่ก็ไม่อยากให้เข้ามาทำโครงการ แต่หนูก็ยังดื้อที่จะเข้ามา เพราะคิดว่า การดื้อรั้นเพียงนิดเดียว แต่เรากลับเจอประสบการณ์มากมาย แต่ว่าการทำงานในครั้งนี้มันทำให้หนูโตขึ้น ทำให้หนูรู้จักมีความรับผิดชอบและสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ ทำให้วันนี้หนูเข้าใจแล้วว่าบทเรียนไม่ได้มีเพียงแค่คำสอนของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ข้างนอกก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่หนูต้องเจอและเก็บเกี่ยวด้วยเหมือนกัน"

นก-อรณี พันโนฤทธิ์ นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์ แกนนำเยาวชนโครงการ Forest of life สร้างพลังชีวิตอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน กล่าวว่า "พวกเราอยากอนุรักษ์ป่าไว้ เพราะนี่เป็นพื้นที่ป่าของชุมชน เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เราก็เคยเข้ามาหาเห็ด เมื่อก่อนเจอเยอะ แต่ตอนหลังมันเริ่มลดน้อยลง เพราะเห็ดจะชอบที่ทึบๆ มืดๆ ไม่ชอบป่าที่โล่งๆ จึงนำมาสู่การทำกิจกรรมบวชและปลูกป่า เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าดงกา ป่าที่อยู่ในชุมชนของเรา"

ในขณะเดียวกัน เต๋า-อภิชาต วันอุบล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา พี่ใหญ่จากโครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว เล่าให้ฟังว่า "เมื่อผมได้ทำโครงการฯ นี้ ทำให้ผมได้รู้จักผ้าไหมโซดละเวซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวกวย อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และรู้สึกมั่นใจที่จะสวมใส่ผ้าไหม โซดละเวไปที่ไหนๆ อย่างภาคภูมิใจที่เราได้เป็นลูกหลานชนชาติกวย"

สมัครเข้าร่วมโครงการในปีที่ 3 ได้ที่ www.scbfoundation.com / Facebook : โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี2