ปภ.เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ราอี”

14 Sep 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน เตรียมพร้อมรับมืออิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ราอี" (Rai) ที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ทำให้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย วางแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัย ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย และสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน "ราอี" (Rai) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น โดยจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบนตามลำดับ ส่งผลให้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังและคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัย เพื่อระบุพื้นที่ประสบภัยและคาดว่าจะประสบภัยอย่างชัดเจน พร้อมวางแนวทางการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน แก่ประชาชน จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละ พื้นที่ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วสนธิกำลังกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน พื้นที่ปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วง ที วางระบบการระบายน้ำ การพร่องน้ำ และเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ โดยประสานเชื่อมโยงแผนการจัดการน้ำในเชิงลุ่มน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเป็นระบบ กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบและแบ่งมอบภารกิจในการดูแลผู้ประสบภัยให้ครอบคลุม ทุกพื้นที่ รวมถึงจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับความเสี่ยงภัย ความต้องการในการขอรับการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม อาหารแห้ง เครื่องนุ่งห่ม พร้อมดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนวางระบบการสื่อสารให้ใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งระบบการสื่อสารหลัก รอง และสำรอง เพื่อประสานสั่งการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญ ให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ภัยและแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยของภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดเตรียมถุงยังชีพและสิ่งของสำรองจ่าย ประจำไว้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด ซึ่งพร้อมสนันบสนุนจังหวัดที่ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย สำหรับประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ควรติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กรณีประสบสาธารณภัยสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th