ปภ. เตือน 6 จังหวัดภาคเหนือรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง จากอิทธิพลของพายุ“ราอี”ที่อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ

15 Sep 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย และตาก เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงวันที่ 15 กันยายน 2559 จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือ อาจทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 19 กันยายน 2559 สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่น"ราอี" ได้เคลื่อนตัวจากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง เข้าปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือแล้ว คาดว่าหย่อมความกดอากาศต่ำ จะเคลื่อนตัวไปปกคลุมประเทศเมียนมา และจะอ่อนกำลังลงก่อนสลายตัวไป แต่ยังคงทำให้มีฝนตกหนักใน 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย และตาก ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ 6 จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และ มิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณฝนตกสะสมอยู่แล้ว รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง ทั้งเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล(OTOS) เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่รองรับน้ำและกักเก็บน้ำ และวางแผน พร่องน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยบูรณาการแผนการระบายน้ำ ในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด สำรวจสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย และจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือจัดหาที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2559 และติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดต่อไป ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th