นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลจากพายุราอีที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ซึ่งเคลื่อนตัวผ่านบริเวณแประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 8 จังหวัด รวม 19 อำเภอ 49 ตำบล แยกเป็น บุรีรัมย์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอปะคำ ระดับน้ำสูงประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 40 หลังคาเรือน และน้ำไหลกัดเซาะถนนสายบ้านประชาสามัคคี – หนองต้อ กม. 2 บ้านกองพระทราย ตำบลหูทำนบ ซึ่งเป็นถนนช่วงสร้างผ่านท่อระบายน้ำเป็นหลุมกว้าง 3 เมตร ยาว 2 เมตร และลึก 1 เมตร เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 400 หลังคาเรือน และตำบลท่าพล ตำบลน้ำร้อน และตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 153 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,500 ไร่ บ่อปลา จำนวน 40 บ่อ สถานที่ราชการ จำนวน 3 แห่ง ถนน 9 สาย อำเภอภูกระดึง น้ำเอ่อล้นสะพานในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลศรีฐาน ไม่สามารถสัญจรได้ ตำบลภูกระดึง บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 44 หลังคาเรือน ตาก เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามเงา อำเภอเมืองตาก และอำเภอแม่สอด ประชาชนได้รับผลกระทบ 112 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 850 ไร่ เชียงใหม่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอจอมทอง และอำเภอเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ลำพูน น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอแม่ทา อำเภอป่าซาง สะพานได้รับความเสียหาย 1 แห่ง ถนน 3 แห่ง ฝาย 1 แห่ง อำเภอบ้านโฮ่ง ประชาชนได้รับผลกระทบ 105 หลังคาเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงลำปาง เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอห้างฉัตร และอำเภอเมืองลำปาง พิษณุโลก น้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง ประชาชนได้รับผลกระทบ 300 หลังคาเรือน โรงเรียนเสียหาย 1 แห่ง วัด 1 แห่ง อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอนครไทย และเกิดดินสไลด์ถนนนครไทย – นครชุม บริเวณ กม.26 จำนวน 3 จุด ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,151 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 6,122 ไร่ บ่อปลา จำนวน 50 บ่อ ปัจจุบันสถานการณ์ในภาพรวมทั้ง 8 จังหวัด ระดับน้ำลดลงแล้ว มีเพียงจังหวัดตากที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นราอี (Rai) ได้เคลื่อนตัวจากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง เข้าปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือแล้ว คาดว่าจะเคลื่อนออกไปปกคลุมประเทศเมียนมา และจะอ่อนกำลังลงก่อนสลายตัวไป แต่ยังคงทำให้มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และสุโขทัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลังเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง อาทิ คอสะพาน เส้นทางน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนบูรณาการแผนการระบายน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th