นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2558 - 2559 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศมาจากน้ำฝนเป็นหลัก สถานการณ์น้ำในภาพรวมจึงอยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของทุกภาคส่วน ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบวิกฤตภัยแล้งยาวนานกว่าปกติ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกภาคส่วนกำหนดมาตรการเชิงนโยบายและวางแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้กลไก "ประชารัฐ" แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกลไกของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งน้อยที่สุด ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง ในการนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้จัดสัมมนาถอดบทเรียน
"วิกฤตภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2558 - 2559" กับการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ในวันที่ 15 กันยายน 2559 ณ โรงแรมแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมสัมนนาฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 130 คน รูปแบบการสัมมนาแบ่งเป็น 2 เวที ดังนี้1) เวทีการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "วิกฤตภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2558 – 2559 บทเรียนไปสู่การเตรียมความพร้อมและการรับมือในอนาคต" โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ "สานพลัง สานความคิด สู้วิกฤตภัยแล้งอย่างยั่งยืน" และหัวข้อ "ถูกต้อง ? ถูกทาง ? กับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2558 – 2559" 2) เวทีการประชุมระดมสมองเสนอแนะแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งในอนาคต ทั้งนี้การสัมมนาฯ ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ยังเป็นเวทีสำคัญที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมเสนอข้อคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่นำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เชื่อมโยงทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตภัยพิบัติด้านน้ำอย่างยั่งยืน
นายฉัตรชัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะได้นำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นจากการสัมมนาฯในครั้งนี้ ไปปรับปรุงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมถึงยกระดับการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำและสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน ภายใต้วาระสำคัญของรัฐบาล "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)"0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit