ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผย ระหว่างนำคณะเจ้าหน้าที่กรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ กลุ่มสัตว์น้ำ หอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าและการดำเนินงานของโครงการสานพลังประชารัฐกลุ่มสัตว์น้ำ ภายใต้การส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีจาก ซีพีเอฟ ณ สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ว่า โครงการประชารัฐนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้ดำเนินการสนับสนุนและผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อยในกลุ่มสัตว์น้ำ โดยในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากซีพีเอฟในการถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง "3 สะอาด" ของบริษัทให้กับเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตกรกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืน
โครงการนี้เป็นการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการดึงศักยภาพของภาคเอกชนที่มีจุดแข็งทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำและด้านการตลาด มาช่วยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ มีเป้าหมายความร่วมมือใน 12 สหกรณ์ 9 จังหวัด ครอบคลุม 5 ประเภทสินค้า ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม ปลากะพงขาว และปลานิล ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์เป้าหมายเข้าร่วมโครงการนำร่อง 185 คน พื้นที่ 4,858 ไร่ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาและการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มการจ้างงานสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถของภาคประชาชน
"ที่ผ่านมากรมประมง มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยรวมตัวกันเพื่อดำเนินการในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้มีการแบ่งปั่นประสบการณ์และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในระยะยาว" ดร.จูอะดี กล่าว
ดร.จูอะดี กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการประชารัฐนั้น ภาครัฐมีนโยบายให้เอกชนเป็นผู้นำ ส่วนภาครัฐเองจะเป็นผู้สนับสนุนในด้านต่างๆเพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วง ซึ่งความร่วมมือจากภาคเอกชนในกลุ่มสัตว์น้ำนั้น ซีพีเอฟได้จับคู่ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับสหกรณ์ประมง 2 แห่งในจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด และสหกรณ์ประมงจันทบุรี จำกัด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งให้มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับเกษตรกร เป็นการช่วยควบคุมและลดต้นทุนการเลี้ยงให้ต่ำลง ขณะเดียวกันยังสามตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสาร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"การที่ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนด้านความรู้และเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้กับสมาชิกสหกรณ์ทั้งสองแห่งจะเป็นส่วนช่วยพัฒนาภาคการผลิตกุ้งของไทยให้มีมาตรฐาน ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เป็นฟาร์มต้นแบบ สร้างโมเดลความสำเร็จเป็นแนวทางในการศึกษาของเกษตรกรอื่นๆในอนาคต และซีพีเอฟยังนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรายอื่นๆทั้งที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรภายนอกได้ประยุกต์ใช้เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป" ดร.จูอะดี กล่าว
ด้าน นายดำรง เสนาะสรรพ์ ประธานกรรมการ สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน มีจำนวนสมาชิก 225 คน มีพื้นที่รวมกัน 1,084 ไร่ โดยสหกรณ์ฯ ตัดสินใจร่วมโครงการนี้หลังจากได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จในโครงการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ซีพีเอฟ ที่อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี พัฒนาวิธีการเลี้ยงกุ้งให้มีมาตรฐานนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพและผลผลิตที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน ด้วยแนวทาง "3 สะอาด" ได้แก่ กุ้งสะอาด น้ำสะอาด และพื้นบ่อสะอาด ที่บริษัทคิดค้นและถ่ายทอดแก่เกษตรกรของบริษัทจนประสบความเร็จเป็นอย่างดี โดยสหกรณ์ฯ ได้คัดเลือกสมาชิกเกษตรกรต้นแบบ 5 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านการเลี้ยงกุ้ง แต่เป็นเกษตรกรที่เปิดรับวการเปลี่ยนแปลงในวิธีการและแนวทางการเลี้ยงการจัดการใหม่ๆ เพื่อทดลองการเลี้ยงตามวิธีการของบริษัทฯ
นายดำรง กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาการเลี้ยงที่เกษตรกรต้องประสบมานาน ซีพีเอฟ มาช่วยถ่ายทอดความรู้ให้ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานในการเลี้ยง โดยบริษัทได้เข้าทำความเข้าใจกับเกษตรกร ช่วยสำรวจและออกแบบผังฟาร์มใหม่ พร้อมปรับปรุงโครงสร้างฟาร์ม บ่อเลี้ยงและระบบน้ำภายในบ่อเลี้ยง ปรับปรุงระบบป้องกันทางชีวภาพ และการวางแผนการผลิตกุ้งตลอดโครงการ คาดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตกุ้งจาก 1 ตันต่อไร่ เป็น 3-4 ตันต่อไร่ได้อย่างแน่นอน
นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ อธิบายถึงแนวทาง "3 สะอาด" ว่า เป็นแนวทางการเลี้ยงกุ้งเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นความสะอาดใน 3 ด้าน คือ น้ำสะอาดที่สุด ลูกกุ้งสะอาดปลอดโรค และพื้นบ่อสะอาด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถนำแนวทางต่างๆเหล่านี้ไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงของแต่ละฟาร์ม ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากโรคต่างๆ ได้
ตามแนวทางดังกล่าว น้ำสะอาด หมายถึงน้ำต้องมีปริมาณสารอินทรีย์ที่ละลายในน้ำ (DOC : Dissolved Organic Carbon) ในระดับต่ำ ไม่มีตะกอนและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ไม่มีเชื้อโรคต่างๆ และต้องมีปริมาณน้ำสะอาดที่เพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยง โดยต้องมีการวางแผนการเลี้ยงและทำการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มให้เหมาะสม โดยสัดส่วนพื้นที่ระหว่างพื้นที่เก็บน้ำต่อพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมคือ 70:30
สำหรับ ลูกกุ้งสะอาด คือปลอดจากเชื้อต่างๆ เริ่มจากพ่อ-แม่พันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรควรพิจารณาเลือกใช้ลูกกุ้งที่มาจากโรงเพาะฟักที่ได้มาตรฐาน พ่อแม่พันธุ์ต้องปลอดเชื้อ กระบวนการผลิตในโรงเพาะฟักนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับระบบไบโอซีเคียวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อในทุกๆขั้นตอนของการผลิต
สุดท้าย พื้นบ่อสะอาด เกษตรกรต้องทำความสะอาดพื้นบ่อเพื่อกำจัดแหล่งอาศัยและอาหารของเชื้อโรค ที่สำคัญจะต้องเก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อตรวจเชื้อก่อนที่จะปล่อยกุ้งลงเลี้ยง ในระหว่างการเลี้ยงต้องมีการกำจัดตะกอนซึ่งเกิดจากขี้กุ้งและเศษอาหารที่เหลือจากการกินของกุ้ง โดยดูดออกจากหลุมรวมตะกอนไปเก็บไว้ในบ่อเก็บตะกอน ห้ามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และต้องระวังอย่าให้ตะกอนเปลี่ยนเป็นสีดำหรือมีเลนเกิดขี้นซึ่งแสดงถึงการจัดการที่ไม่ดี
"เกษตรกรต้องลดพื้นที่การเลี้ยงกุ้งเพื่อนำไปใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำสะอาดมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผลผลิตกุ้งลดลง จากประสบการณ์ของเราพบว่าด้วยวิธี 3 สะอาด กุ้งจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นจากปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงรวมถึงสภาพแวดล้อมดีขึ้น และหากเกษตรกรนำแนวทางไปใช้และใส่ใจในการเลี้ยงเป็นอย่างดี จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน" นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย