กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการหน่วยงานร่วมพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หวังให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน

11 Sep 2016
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ณ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ส.ป.ก. ได้ดำเนินการยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานภายใต้คำสั่ง หน.คสช. ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 ก.ค. 59 โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการปฏิบัติการ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นการเตรียมการ 2) ขั้นการแจ้งเตือน 3) ขั้นการยึดและการรื้อถอน4) ขั้นการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน และ 5) ขั้นการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร

ปัจจุบันการดำเนินงานในพื้นที่นี้อยู่ในขั้นการยึด/การรื้อถอน และการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน ซึ่งในกรณีที่แปลงไม่มีผู้คัดค้านทั้งแปลง สามารถยึดคืนได้ทันที 28 แปลง เนื้อที่ 27,874 ไร่ ใน 6 จังหวัด โดยใน จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ที่ไม่มีผู้คัดค้านทั้ง 4 แปลง เนื้อที่ 3,326 ไร่ ทั้งนี้ นางเพียงใจ หาญพาณิชย์ ได้แสดงเจตจำนงคืนที่ดิน ส.ป.ก. ใน จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 1,263 ไร่ แล้ว ซึ่งได้มีการบูรณาการพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จะเข้ามาปรับปรุงดินให้เหมาะสมมากขึ้น กรมชลประทาน จะเข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำ ฝายทดน้ำ ระบบกระจายน้ำ เป็นต้น กรมปศุสัตว์ เตรียมการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เนื่องจากแพะยังมีความต้องการทั้งในประเทศและ การส่งออกถึงปีละ 212,000 ตัว กรมส่งเสริมการเกษตร จะเข้ามาส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ระหว่างรอผลผลิต กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะเข้ามาส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ส.ป.ก. ได้จัดทำแผนผังไว้แล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยใช้งบเหลือจ่ายปลายปี 2559ของ ส.ป.ก. ให้เสร็จเรียบร้อยภายในต้นปี 2560

ทั้งนี้ ใน จ.กาญจนบุรี มีเกษตรกรได้ยื่นความจำนงขอรับการจัดสรรที่ทำกิน จำนวน 6,000 กว่าราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดสรรให้เกษตรกร แต่จะนำเสนอ คทช. ให้พิจารณาเกษตรกรที่ต้องการทำ ปศุสัตว์ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมให้ความรู้การทำปศุสัตว์ แนะนำการบริหารจัดการ การตลาด พัฒนาสู่การเกษตรแปลงใหญ่ต่อไป และสำหรับพื้นที่แปลงนี้มีจุดเด่นที่อยู่ใกล้ถนนและแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตรได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวจะเข้ามาดูแลเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอขอใช้งบกลางปี 2559 เพื่อพัฒนาพื้นที่อีก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่2,188 ไร่ ได้แก่ จ.สุราษฏร์ธานี และ จ.นครราชสีมา ซึ่งในปี 2560 จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ 1) พื้นที่ที่ยึดคืนได้ในกรณีที่ 1 เต็มแปลง จำนวน28 แปลง เนื้อที่ 27,874 ไร่ และ 2) พื้นที่ที่ยึดคืนได้ในกรณีที่ 1 ไม่เต็มแปลง นอกจากนี้ ยังได้มีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะบูรณาการทุกหน่วยงาน โดยจะใช้ Agri-Map พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ และใช้รูปแบบสหกรณ์เข้ามาดูแล แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ 1) พื้นที่อยู่อาศัย 2) พื้นที่ทำกิน 3) พื้นที่ส่วนรวม เช่น สำนักงานสหกรณ์ แปลงรวม ตลาดเกษตรกร เป็นต้น และ 4) พื้นที่ป่า (ถ้ามี) ด้วย