ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "New S Curve กับการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0" โดย กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ถูกจัดเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ได้ขยายบทบาทตัวเองจากเดิมเป็นผู้สร้างองค์ความรู้โดยการทำวิจัยและพัฒนาโดยเพิ่มทำหน้าที่ในการเป็นข้อต่อเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย ซึ่งงาน Thailand Tech Show นี้เป็นกิจกรรมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อย่างรูปธรรม เพื่อผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากเดิมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมผลักดันมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำวิจัยและนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น มาตรการยกเว้นภาษีค่าใช้จ่ายวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม 300% มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับ Startups และ Venture Capital มาตรการบัญชีนวัตกรรมไทย การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร ( Food Innopolis) เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รัฐบาลได้มีแนวคิดการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจากการผลิตในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้แรงงานและเครื่องจักรเข้มข้น ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ"ประเทศไทย 4.0" กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กำหนดขีดความสามารถพื้นฐานของประเทศไทยและความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม อุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวกลุ่มอุตสาหกรรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง
ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-Curve เหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการขับเคลื่อนในรูปแบบของ "ประชารัฐ"หรือ Public Private Partnership (PPP) ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่จากการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรม ซึ่งThailand Tech Show ครั้งนี้ จะเป็นการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าตามแนวคิด "ประเทศไทย 4.0" เพื่อให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงทางเทคโนโลยี ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศได้เร็วขึ้น
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำหรับงานในครั้งนี้ มีการจัดแสดงผลงานจำนวน 183 ผลงาน จาก สวทช. และพันธมิตร 26 ราย แบ่งเป็น เทคโนโลยีราคาเดียว 30,000 บาท 122 ผลงาน เทคโนโลยีไฮไลท์ จำนวน 56 ผลงาน ผลงานเด่น สวทช. 5 ผลงาน นอกจากนั้นยังมีโชว์ผลงานของ Startups ที่ได้รับการสนับสนุน Startup Voucher จำนวน 35 ราย (จาก 53 ราย) การจัดแสดงผลงานดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งบริษัทใหญ่ และ SMEs สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้นในงานเดียวซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตของท่านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรืออาจจะเป็น New S-Curve ของบริษัท และนักลงทุนที่สนใจลงทุนร่วมกับนักวิจัยสร้างธุรกิจเทคโนโลยีหรือลงทุนร่วมกับ Startups สามารถเจรจากันได้ในงานนี้ ในขณะเดียวกัน นักวิจัยก็สามารถเข้าถึงตลาด ได้พบปะและสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้นในอนาคต
งานมหกรรม "Thailand Tech Show 2016" มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. ณ เพลนารี ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สนใจร่วมงานรับฟังข้อมูล จากนักวิจัยเจ้าของผลงานพร้อมให้ข้อมูลตลอดการจัดงาน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดโครงการ เพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.nstda.or.th/thailandtechshow2016
HTML::image( HTML::image( HTML::image(