งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบเมืองนคร เป็นงานที่มีความสำคัญต่อชาวเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการสะท้อนให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นถึงความเป็นผู้มีศิลปวัฒนธรรมประเพณี ที่ยิ่งใหญ่เป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าแห่งความภาคภูมิใจของชาวเมืองนคร ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลตราบเท่าปัจจุบันเมื่อมีใครกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้วก็จะนึกถึง "งานเดือนสิบ" เป็นอันดับแรกๆ ทั้งนี้ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาเชื่อว่าในปลายเดือนสิบ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไม่มีญาติ มีบาปมากตกอยู่ในนรกที่เรียกว่า "เปรต" จะได้รับการปล่อยตัวขึ้นมา พบญาติพี่น้องและลูกหลานบนเมืองมนุษย์ ในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ (เดือนทางจันทรคติ) และจะต้องกลับนรกดังเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนเดียวกัน ดังนั้น ในโอกาสที่ญาติมาเยียนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะเตรียมการต้อนรับโดยการหาอาหารและสิ่งต่างๆ ตามประเพณีไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และขนมส่วนหนึ่งก็นำไป "ตั้งเปรต" พิธีกรรมดังกล่าวเรียกว่าการ "ยกหฺมฺรับ" โดยถือเอาวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบเป็นวันจ่าย และวันแรม ๑๔ ค่ำเป็นวัน "ยกหฺมฺรับ" วันจ่ายจึงเป็นวันที่มีการซื้อขายของทำบุญกันมากเป็นพิเศษ วันแรม ๑๕ ค่ำเป็นการฉลองหฺมฺรับและการบังสุกุล
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง๑. การยกหฺมฺรับ (สำรับ)
พิธีสารทจะเริ่มขึ้นโดยการนำหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ในวันแรม ๑๓ ค่ำ ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดในวันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันยกหฺมฺรับการทำบุญที่วัดในวันนี้นอกจากจะยกหฺมฺรับไปที่วัดแล้วจะนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย ส่วนการเลือกวัดที่จะไปทำบุญและยกหฺมฺรับไปนั้นก็จะเป็นวัดใกล้บ้าน หรือวัดที่เคยเผาบรรพบุรุษ หรืออาจจะเป็นวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางและเป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองนคร๒. การตั้งเปรต
เมื่อยกหฺมฺรับและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็จะมีการ "ตั้งเปรต" การตั้งเปรต แต่เดิมกระทำโดยการนำขนมส่วนหนึ่งไปวางไว้ในที่ต่างๆ ตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้เพื่อแผ่ส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญให้ การตั้งเปรตในระยะหลังได้มีการสร้างร้านสูงพอสมควร เรียกว่า "หลาเปรต" หรือศาลาเปรต นำขนมไปวางไว้บนร้านนั้น เพื่อแผ่นส่วนบุญส่วนกุศลไปยังผู้ล่วงลับไปแล้วต่อจากนั้นเป็นช่วงที่เรียกว่า "ชิงเปรต" กล่าวคือเมื่อเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ก็เก็บสายสิญจน์ ทั้งคนเฒ่า คนแก่ หนุ่มสาว และเด็กๆ ก็จะกรูกันเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรตกันอย่างตั้งอกตั้งใจ เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพชน ถ้าใครได้กินจะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลคลแก่ตนและครอบครัวยิ่ง๓. การฉลองหฺมฺรับและการบังสุกุล
การฉลองหฺมฺรับและการบังสุกุลกระทำกันในวันแรม ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทในวันนี้มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหฺมฺรับ เรียกว่า "วันฉลองหฺมฺรับ" นอกจากนี้มีการทำบุญเลี้ยงพระและการบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องกลับไป การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ในวันนี้นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะหากมิได้จัดหฺมฺรับหรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดในวันนี้ บรรพบุรุษและญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้วจะอดอยากทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูขนม ๕ อย่างเป็นหัวใจอันสำคัญของหฺมฺรับ คือ๑ ขนมลา เป็นสัญลักษณ์ ใช้แทนเสื้อผ้าแพรพรรณ๒. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์ แทนแพ สำหรับบุรพชน ใช้ล่วงข้ามห้วงมหรรณพตามคติทางพุทธศาสนา๓. ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์ แทนเครื่องประดับ๔. ขนมดีซำ เป็นสัญลัษกณ์ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย๕ ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์ แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เป็นลูกสะบ้าในการเล่นต้อนสงกรานต์
การจัด หฺมฺรับ ทำเป็นสำรับใหญ่ อาจใช้กระบุงขนาดใหญ่หรือกระจาด ช่วยกันจัดหฺมฺรับ โดยมีสิ่งของอย่างอื่นเสริมด้วยเช่น กล้วย อ้อย ข้าวโพด ตะไคร้ ข้าวสาร หอม กระเทียม น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เข็ม ด้วย ธูปเทียน หมาก พลู ยาเส้น และขนมสำคัญ 5 อย่างจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ประดับตกแต่งให้สวยงาม รุ่งขึ้นวันแรม ๑๔ ค่ำ จึงยกไปวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมศรัทธาจัดทำตามประเพณี เรียกว่า "วันหฺมฺรับใหญ่" หรือวันทำบุญใหญ่ เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ อันเป็นวันครบกำหนดจะต้องกลับไปยังยมโลก ลูกหลานก็จะทำบุญ ส่งตา-ยาย กันอีกครั้งงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นงานประเพณีวิถีเมืองนคร ที่เชื่อในเรื่องบาปคุณโทษ เป็นงานประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูที่เกี่ยวพันกับความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสู่เย้าของลูกหลาน จึงจัดให้มีกิจกรรมสนุกสนานมากมาย อาทิ แห่หฺมรับ ยกหฺมฺรับ ตั้งเปรตชิงเปรต
ในปีนี้ งานประเพณีบุญสารเดือนสิบ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๒๕ กันยายน – ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) อ.เมือง นครศรีธรรมราช และขบวนแห่หฺมฺรับ ในวันศุกร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ จากสนามหน้าเมือง ไปยัง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พร้อมทำบุญใหญ่ในวันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ พร้อมการประกวดหฺมฺรับ และชิงหฺมฺรับทองคำพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน หนังตะลุง โนรา การตั้งเปรตและประกวดหุ่นเปรต ห้ามพลาด...งานประเพณีที่เก่าแก่ของเมืองนคร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit