สรุปภาพรวมโครงการ
รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำ (Chao Phraya for All) กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการด้านการสำรวจและออกแบบ ซึ่งยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีส่วนร่วม ผสมผสานองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ข้อมูลประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ในการนำมาวิเคราะห์และออกแบบ
สจล.ได้จัดทำผังแม่บทระยะ 57 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงเขตบางนา สุดเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่โครงการ 17 เขต และได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEEE) ในส่วนของโครงการระยะ 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ได้จัดทำออกแบบรายเอียด และ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด(EIA) ซึ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกมาเชิงผลดีและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้แบบของ สจล.ที่นำเสนอและจะส่งมอบแก่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 26 กันยายน 2559 มีเพียงแบบเดียว แต่ในบางชุมชนจะมีแบบทางเลือกไว้สำหรับการพิจารณาตัดสินใจต่อไป ได้แก่ชุมชนเทวราชกุญชร ทางเลือกที่ 1. ทางเดินอ้อมหน้าชุมชน ทางเลือกที่ 2. จากการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นทางเดินผ่านในชุมชน ทางเลือกที่ 3. ทำเขื่อนกั้นน้ำท่วม , ชุมชนมิตตคาม 1 ทางเลือกที่ 1. ทางเดินห่างจากแนวเขื่อนและชุมชน ทางเลือกที่ 2. จากการมีส่วนร่วมพูดคุยกับชุมชนเป็นทางอ้อมเข้าชุมชน ทางเลือกที่ 3. ทางเดินชิดเขื่อน , ชุมชนสีคาม ทางเดินอยู่นอกชุมชนระยะห่างจากเขื่อนและอนุรักษ์บ้านไม้ 100 ปีไว้เพื่อให้พิจารณาทางเลือกเสนอต่อชุมชน และประชาชนได้พิจารณาเป็นทางเลือกอีกด้วย
การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วม (Public Participation)
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ในด้านการมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้พบผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนและบุคคลต่างๆ ในระยะนำร่อง 14 กม.ลงพื้นที่ การประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 34 ชุมชน ๆละ 4-6 ครั้ง รวม 304 ครั้ง ทั้งฝั่งธนบุรี (เขตบางพลัด )และฝั่งพระนคร (เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร) ประชุมรายเขต รวม 30 ครั้ง ภาคส่วนอื่ๆหน่วยงานละ 3 ครั้ง รวม 400 ครั้ง ได้ประชุมกลุ่มย่อย หารือกับกลุ่มและบุคคลสำคัญ รวม 118 ครั้ง เปิด 5 ช่องทางให้แสดงความคิดเห็น เช่น ตู้ปณ. อีเมล โทรศัพท์ เว็บไซต์ และเฟสบุ๊ค โดยสรุปชุมชนส่วนใหญ่มีความเห็นเชิงบวก เนื่องจากเป็นโครงการรัฐที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ต้องการทางเดินเชื่อมเข้าถึงชุมชนที่สะดวก มีความเข้าใจและใช้โอกาสจากกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตามยังมีบางชุมชนที่มีความเห็นเชิงลบ ทางโครงการฯ ยังได้จัดแสดงนิทรรศการโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ในงาน TUDA 2016 ของสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อ 30 ส.ค.- 5 ก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี อีกทั้งโครงการยังได้ประสานกับองค์กรสมาคมต่างๆเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) , การไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในการร่วมมือพัฒนาซึ่งจะเป็นลดีต่อเสรษฐกิจชุมชนและภาพรวมต่อไปงานด้านสถาปัตยกรรม
นายเลอศักดิ์ นิยมไทย และ นายวิเชียร ตปนียโอฬาร ฝ่ายสถาปัตยกรรม กล่าวว่า จากการมีส่วนร่วมลงพื้นที่ สืบค้นข้อมูลและทำงานออกแบบร่วมกับชุมชน โดยแนวทาง อนุรักษ์-สืบสาน - สร้างสรรค์ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สร้างสรรค์ 12 แผนงาน สำหรับแผนแม่บทระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย
แผนงานที่ 1 แผนจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ (River Walks) เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน (Connectivity) มีทั้งทางเดินเลียบแม่น้ำและบนพื้นดิน ทางเดินกว้าง 7 – 10 เมตร และความสูงของพื้นผิวทางเดินจะอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.25 เมตร ประกอบด้วยทางเดินเท้า , ทางเดินจักรยาน ,บางแห่งมีจุดชมทัศนียภาพ , สะพานข้ามคลอง , ฟื้นฟูป่าชายเลน และพื้นที่สีเขียว ทางเดินริมน้ำยังช่วยเชื่อมโยงวัดและโรงเรียนต่างๆ ให้มีทางเลือกของการสัญจรที่ประหยัดพลังงานและเวลา ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัด ใกล้ชิดธรรมชาติ ศาสนาและที่พึ่งทางจิตใจในวิถีที่สงบยิ่งขึ้น
แผนงานที่ 2 แผนปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน (Green Walls) ออกแบบจัดทำให้เขื่อนกันน้ำท่วมเดิมทัศนียภาพที่สวยงาม น่ามอง การซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ดำเนินการให้ครบสมบรูณ์
แผนงานที่ 3 แผนพัฒนาท่าเรือ (Piers ) พัฒนาท่าเรือให้เป็นจุดเชื่อมต่อสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่
แผนงานที่ 4 แผนพัฒนาศาลาท่าน้ำ( Sala Riverfronts ) สร้างสรรค์ให้ท่าเรือเป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย และชมทัศนียภาพริมน้ำ ชุมชน ศาสนสถาน พื้นที่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมน้ำ
แผนงานที่ 5 แผนพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ( Public Services ) เสริมสร้างบริการอำนวยความมสะดวกเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์สาธารณะตลอดระยะ เช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ ,ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว, จุดบริการจักรยาน
แผนงานที่ 6 โครงการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่( River Linkages ) ปรับปรุงตรอกซอกซอย ทางเดิน เอเชื่อมต่อและเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
แผนงานที่ 7 แผนปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์(Historical Canal ) ดูคลองประวัติศาสตร์สองฝั่งน้ำสะท้อนเรื่องราวการตั้งถิ่นฐานของบางกอกในอดีตและความเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบันโครงการจะปรับปรุงภูมิทัศน์ริมสองฝั่งคลอง รวมทั้งการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลอง ในด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว
แผนงานที่ 8 แผนพัฒนาพื้นที่ชุมชน (Community Conservation and Development Areas )การพัฒนาพื้นที่ชุมชนตามกระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ วัฒนธรรมและสืบสานวิถีชีวิตของชุมชนที่มีมาในอดีตให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว
แผนงานที่ 9 แผนการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน (Religious Conservation Areas)ศาสนสถานเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน มรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม การออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์คำนึงถึงคุณค่าและเคารพต่อศาสนสถาน ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยและเยาวชนได้เข้าถึงที่พึ่งทางจิตใจมากยิ่งขึ้น
แผนงานที่ 10 แผนพัฒนาพื้นที่นันทนาการ และสวนสาธารณะ (Green Corridors ) โดยใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่สาธารณะด้านหลังเขื่อน เพื่อเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬา และสวนสาธารณะของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำขังและเน่าเสียหลังเขื่อนด้วยระบบท่อรวบรวมน้ำเสียเพื่อส่งไปยังบ่อบำบัดต่อไป
แผนงานที่ 11 แผนพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา (River Landmark) เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี นอกจากนี้ในพื้นที่ที่จะดำเนินการยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐานเป็นพิเศษ
แผนงานที่ 12 แผนพัฒนาสะพานคนเดินข้าม (Pedestrian Bridge ) สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำ โดยสร้างใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี, จากห้างแมคโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย จรัญฯ 84 นอกจากนี้ยังปรับปรุงทางเดินเท้าและทางจักรยานระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลอดภัย โดยปรับปรุงสะพานที่มีอยู่เดิม ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานพระราม 8, สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 7, ใต้สะพานทางรถไฟสายสีน้ำเงิน, เลียบคลองบางซื่อ-คลองบางอ้อ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีกำหนดส่งมอบผลการศึกษาให้แก่กรุงเทพมหานครวันที่ 26 กันยายน 2559 ตามที่กำหนด
งานด้านวิศวกรรม
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ รองผู้จัดการด้านวิศวกรรม จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของโครงการ ทางเดิน-ทางจักรยานที่ออกแบบไว้จะมีความกว้างประมาณ 7 -10 เมตร ฝ่ายวิศวกรรมได้ศึกษาและสรุปใช้เสาสปัน (เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง) แบบกลมมนขนาด 80 เซนติเมตร วางคู่ 2 ต้น ระยะห่างต่อช่วงประมาณ 15 เมตร ในบางช่วงอาจมีระยะสั้นกว่านั้น เช่น ช่วงส่วนโค้งของทางเดิน หรือขึ้นสะพาน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการไหลของน้ำน้อยมาก ไม่มีปัญหาต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งนี้ การก่อสร้างระบบพรีคาสต์ หล่อสำเร็จมา โดยมองว่าจะไม่รบกวนชุมชน เพราะเป็นระบบหล่อสำเร็จรูปทำมาจากโรงงาน ขณะที่ความสูงของพื้นผิวทางเดินจะต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.25 เมตร จึงไม่บดบังทัศนียภาพอย่างที่มีผู้กังวล ส่วนระยะความลึกของปลายเสาเข็มอยู่ที่ระดับ 30 - 33 เมตร
ผลการศึกษาและผลกระทบสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แผนงานที่จะดำเนินการในพื้นทีต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงจากสะพานพระราม 7– สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทางรวมประมาณ 14 กิโลเมตร ประกอบด้วยแผนงานโครงการต่างๆ 12 แผนงานนั้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงผลดีคือการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะในประเด็นด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ตามยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงการก่อสร้างโครงสร้างในลำน้ำ ควรมีมาตรการการก่อสร้างที่ดีและลดปัญหาผลกระทบ อุทกวิทยาและการไหลของน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างต่างๆในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดการยกตัวของระดับน้ำแม่น้ำเพียงเล็กน้อย โดยเสาทรงกลมมนของทางเดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. จะมีผลทำให้ระดับน้ำยกตัวบริเวณหน้าเสาสูงขึ้นเพียง 3 ซม. เป็นระยะห่างออกไปไม่เกิน1 เมตร เมื่อผ่านพ้นเสาไปแล้วระดับน้ำจะกลับสู่สภาวะปกติ และในด้านความเร็วของน้ำช่วงที่ผ่านเสาจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 0.006 ม./วินาที หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.007 โครงสร้างเสาทรงกลมมนกับการไหลผ่านของกระแสน้ำในช่วงน้ำขึ้นน้ำลงไม่เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในอันที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านการทับถมหรือกัดเซาะของตะกอน ประกอบกับตลอดแนวตลิ่งมีการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ดังนั้นจึงไม่เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงริมตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit