ที่เพชรบุรี เกษตรกรกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันในนาม "เครือข่ายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จังหวัดเพชรบุรี" โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ในเมืองเพชรบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของประเทศและของโลก การทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานของเกษตรกรตัวเล็กๆที่มีใจยิ่งใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่การคิดถึงตัวเองเท่านั้น แต่คิดถึงผู้บริโภคด้วย
ที่สำคัญที่สุด การขับเคลื่อนครั้งนี้ เพราะอยากเห็น "เกษตรกร" ไม่ต้องทนอยู่ในวงจร หนี้ จน เจ็บ อีกต่อไป เพราะอย่างน้อยเกษตรอินทรีย์สามารถช่วยให้เขามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภคแบบที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ภารกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ต้องใช้ความมุ่งมั่นและความทุ่มเททั้งกายและใจ ที่จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แรงบันดาลใจจากปราชญ์เฒ่าดอนผิงแดด
จุดเริ่มต้นของ "เครือข่ายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จังหวัดเพชรบุรี" เกิดจากความตั้งใจสานต่อเจตนารมย์เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ของปราชญ์ชาวบ้านดอนผิงแดด ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆที่ทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2544 หลังจากก่อนหน้านี้ที่ชีวิตพวกเขาต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีที่สร้างหนี้สินและชีวิตถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสุขภาพ จนหลายคนเข้า ICU เพราะสารเคมีมาแล้ว
จนกระทั่งได้พบจุดเปลี่ยนจากการเปิดใจศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์และแม้ว่าในขณะนั้นพวกเขาจะอายุกว่า 50 ปีกันแล้ว แต่อายุก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการ "เปลี่ยน" พวกเขาก็เลือกที่จะ "หักดิบ" จาก เกษตรเคมี สู่ เกษตรอินทรีย์ ที่ไม่มีหลักประกันว่าผลผลิตจะเหลือเท่าไหร่ จะมีรายได้เหลือหรือเปล่า แต่เมื่อแลกกับการตัดวงจรสารพิษที่เป็นอันตรายทั้งต่อผู้ปลูกและผู้บริโภคออกไปก็ถือว่าคุ้ม
ปราชญ์ชาวบ้านดอนผิงแดดกับภารกิจการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต่อเกษตรกรทั่วไปเพื่อใที่สนใจเรื่องนี้ เพื่อหวังให้คนรุ่นหลังมีชีวิตที่มั่นคง
เพราะหลังจากมาเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว สุขภาพของพวกเขาก็ดีขึ้นตามลำดับ ผลผลิตก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จนสามารถทยอยปลดนี้ได้ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไป 15 ปี พวกเขาได้วางมือจากการทำเกษตรและกลายเป็นปราชญ์เฒ่าเพื่อให้ความรู้กับคนรุ่นหลัง โดยร่วมกันสร้าง ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน บ้านดอนผิงแดด จ.เพชรบุรี เพื่อส่งผ่านความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ เพื่อหวังเห็นคนรุ่นหลังมีชีวิตที่มั่นคง
การอบรมที่ศูนย์ปราชญ์ดอนผิงแดดฯ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรุ่นหลังจำนวนมาก ที่เห็นแล้วว่า "อายุ" ไม่ได้เป็นปัญหาในการเปลี่ยน แต่มันขึ้นอยู่กับความกล้าและการลงมือทำเท่านั้น เกษตรกรที่เพชรบุรีจำนวนมากหลังจากที่ได้มาอบรมที่นี่ได้นำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่ตัวเองตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น การใช้จุลินทรีย์ต่างๆ การทำปุ๋ยหมักปรับปรุงดิน การนำโซล่าเซลล์มาปรับใช้กับการเกษตร เป็นต้น"เกษตรกรบ้านทุ่งยาว" สร้างแหล่งอาหารบนพื้นที่แห้งแล้ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เกษตรกรบ้านทุ่งยาว อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นเกษตรกลุ่มแรกๆที่จะเดินตามแนวทางนี้ ที่จะสร้างแหล่งความมั่นคงทางอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เพราะด้วยข้อจำกัดที่พวกเขายากจนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น เกษตรเคมีเชิงเดี่ยวที่อาจจะต้องใช้ที่ดินจำนวนมากจึงไม่ใช่คำตอบแห่งความยั่งยืน
หลังจากตกผลึกในแนวคิดนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2559 กลุ่มเกษตรกรทุ่งยาว 7 ครอบครัว ได้ลงมือเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เป็นพื้นที่แหล่งอาหารทันที โดยที่ดินแปลงดังกล่าวมีขนาด 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการทำกิน และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน
ในภาพ พื้นที่ทุ่งยาวแก่งกระจาน จากวันแรกในแผ่นดินที่แห้งแล้ง วันนี้พื้นที่ดังกล่าวถูกแต่งแต้มด้วยสีเขียวจากพืชชนิดต่างๆที่เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับคนในทุ่งยาวและทั่วประเทศ
โครงการดังกล่าวมี เบียร์ อนุพงษ์ ตรงจริง หนึ่งในวิทยากรจากศูนย์ปราชญ์ดอนผิงแดด เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งเขาเองเป็นหนึ่งในวิทยากรของศูนย์ปราชญ์ดอนผิงแดด แม้จะวัยเพียงแค่ 32 ปีก็ตาม แต่ได้รับการยอมรับ เพราะเป็นผู้ริเริ่มการนำ Solar Cell มาปรับใช้กับการเกษตร ภายใต้แนวคิด Smart Farm ต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการวางระบบน้ำอัตโนมัติจากSolar Cell เพื่อประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน
วันแรกที่มีการปรับพื้นที่แห้งแล้งที่เต็มไปด้วยก้อนหินและทราย หันไปทางไหนก็เจอแต่ความว่างเปล่า อาจจะทำให้หลายคนถอดใจได้ แต่ไม่ใช่ชาวทุ่งยาว พวกเขาเดินหน้าปลูกพืชผักสารพัด ทำงานตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน เพื่อปลูกผักรอรับฤดูฝนที่จะมาถึง เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนเป็นสีเขียว ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ กล้วย บวบ ผักบุ้ง ฝรั่ง มัลเบอรี่ คะน้า กวางตุ้ง มะเขือ มะนาว ถั่วพุ่ม และข้าวไร่สายพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น
โดยระหว่างที่รอพืชเติบโต เครือข่ายขับเคลื่อนฯได้จัดการอบรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) และฝึกการตรวจแปลงอินทรีย์ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภค พร้อมกับเรียนรู้การรับรองมาตรฐานอื่นๆด้วยปฏิบัติการหาตลาด ภารกิจที่เลี่ยงไม่ได้ และวิกฤตก็เกิดขึ้น...
การวางแผนขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของคนเพชรบุรี ไม่ได้ทำแค่การปลูกเท่านั้น เพราะทุกคนรู้ดีว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือการหาตลาด เพื่อที่จะให้ผลผลิตที่ปลูกสามารถไปถึงผู้บริโภคได้ ทั้งในระดับจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
โดยในระดับจังหวัด ทางเครือข่ายฯได้มีการผลักดัน ตลาดนัด Farmer Marketในทุกเช้าวันอังคาร ที่หลังศาลากลางจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้คนรักสุขภาพมาจับจ่ายซื้อผลผิตเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรสู่ตัวจริง
นอกนี้ยังมีการตั้ง "สหกรณ์บริการเกษตรอินทรีย์" Phetchaburi Organic Products Cooperative Ltd. (COPOP) เพื่อที่จะหวังให้เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ว่าถ้าต้องการพืชผักผลไม้อินทรีย์สามารถสั่งซื้อได้ที่นี่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็สามารถนำสินค้าให้สหกรณ์ได้ เพราะก่อนหน้านี้มีเกษตรกรจำนวนมากที่ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่มีรู้ว่าจะไปขายที่ไหน ก็สามารถนำมาขายที่นี่ได้ โดยมี "ตลาดดงยาง" เป็นศูนย์กลางการซื้อขายด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของสหกรณ์บริการเกษตรอินทรีย์นั้น เมื่อถืงเวลาที่ผลผลิตออกมา ทุกอย่างก็ยังไม่เป็นตามที่วางแผนไว้ เพราะทุกคนในทีมล้วนแต่เป็นมือใหม่ ไม่มีใครมีประสบการณ์ในการหาตลาดมาก่อน ทำให้หาตลาดไม่ได้ โดยเฉพาะโรงแรมต่างๆ แถบหัวหิน-ชะอำ ที่ถือเป็นเป้าหมายทางการตลาดของสหกรณ์ ที่ยังไม่เปิดรับพืชผักออร์แกนิคในตอนนี้ แต่ก็รู้ว่าทุกคนในสหกรณ์ก็ทำงานเรื่องนี้อย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทีมขับเคลื่อนฯทุกฝ่ายที่เกี่ยวทางสหกรณ์ต้องปรับแผนการตลาดใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กดดันมากๆ เพราะพืชที่ปลูกไว้เริ่มให้ผลผลิตเละต้องทยอยเก็บเกี่ยว แต่ก็ถอยไม่ได้ เพราะเป็นภาวะความจริงที่ต้องเจอที่นอกจากปลูกได้แล้วต้องหาตลาดให้ได้ด้วย
ทางเครือข่ายฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะรู้ดีว่าการปลูกพืชผักต้องใช้เวลาและความทุ่มเท จึงพยายามทำทุกทางเพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาขายไปถึงผู้บริโภคได้ โดยอาจารย์ไตรพันธ์ คงกำเนิด ข้าราชการเกษียณอดีตนักวิชาการเกษตร ในฐานะประธานสหกรณ์บริการฯ ได้ใช้รถบิ๊กไบค์คู่ใจในการทำหน้าที่นำผักที่รับซื้อจากเกษตรกรไปขายให้กับครัวเรือนต่างๆและมีบางส่วนที่แจกฟรีเพื่อสร้างฐานลูกค้าในอนาคตด้วย
ขณะที่ สำราญ อ่วมอั๋น ตัวแทนจากศูนย์ปราชญ์ดอนผิงแดดฯ ที่รับหน้าที่ประสานงานการผลิตให้สหกรณ์ ต้องข้ามมาเป็นทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขาย ด้วยการเสียสละเวลาส่วนตัวนำสินค้าของเกษตรกรไปขายตามงานออกร้านต่างๆที่ได้รับเชิญ และบางครั้งก็มีการฝากเครือข่ายให้ช่วยขายด้วย ทั้งในเพชรบุรี และ ในกรุงเทพฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง จนเกษตรกรสามารถยึดการทำเกษตรอินทรีย์เป็นอาชีพหลักได้
ด้าน ณัศพงษ์ เพชรพันธุ์ช่าง ซึ่งเข้ามาช่วยด้านการตลาด ก็รับสินค้าจากสหกรณ์เอาเข้าไปขายในตัวเมือง นอกจากนี้เครือข่ายฯยังได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ในจังหวัด ให้มีการเปิด Farmer Market ชื่อ"ตลาดนัดปันกัน" ในพื้นที่อำเภอต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้กับประชาชนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยตลาดน้ดปันกันแห่งแรกเริ่มที่ อ.ชะอำ โดยมีเกษตรกรในพื้นที่เป็นผู้ประสานงานหลัก
โดยทุกคนในทีมต้องรวมเงินกันเพื่อเป็นค่าใช่จ่ายต่างๆ และสลับหน้าที่กันระหว่างการเป็นคนขายและการเป็นคนส่งของ แม้จะยากลำบากแค่ไหน แต่ทุกคนในทีมก็ไม่เคยท้อ เพราะรู้ดีว่าปัญหานี้กระทบต่อคนจำนวนมากทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค และเชื่อว่าจะสามารถผ่านวิกฤตไปได้เกษตรกรเริ่มท้อ อาจหวนกลับสู่วงจรเกษตรเคมี!!
อย่างไรก็ตาม แม้ทีมงานยังไม่ท้อ แต่ปรากฎว่าจากวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรบางคนเริ่มถอดใจและอาจจะหันกลับไปทำเกษตรเคมีแบบเดิม เพราะเสียใจว่าพืชผักที่เขาตั้งใจปลูกและใส่ใจเป็นอย่างดีไม่สามารถขายได้ อีกทั้งไม่อยากเป็นภาระให้ทีมขับเคลื่อนฯต้องเหนื่อยในการหาตลาด แต่เกษตรเคมีมีตลาดรองรับแน่นอนกว่า
อนุพงษ์ ตรงจริง ผู้ประสานงานเครือข่ายขับเคลื่อนฯ กล่าวว่า ปัญหาที่หนักตอนนี้คือผลผลิตของเกษตรกรที่ออกมาจำนวนมาก แต่ไม่มีตลาดรองรับ แต่เราก็พยายามกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียกำลังใจ เพราะทุกคนที่ก้าวมาทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ใจอย่างมาก เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งเรื่องราคาและผลผลิต
"อย่างคุณลุงที่ปลูกมะเขือเทศที่ทุ่งยาว ท่านอายุ 70 ปี ทำเกษตรเคมีมาทั้งชีวิตจนถึงขั้นป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล หลังจากนั้นท่านจึงละเลิกใช้เคมีทั้งหมด และหันมาทำมาปลูกมะเขือเทศเกษตรอินทรีย์ โดยใส่ใจมากๆเพราะเคยป่วยมาก่อนไม่อยากให้ใครต้องเป็นแบบท่านอีก
แต่สุดท้ายเมื่อท่านได้รู้ว่ามะเขือเทศของท่านถูกกองอยู่ที่สหกรณ์เพราะยังขายไม่ได้ ท่านก็ท้อใจและบอกว่าหากเป็นแบบนี้คงต้องเลิกและกลับไปทำเคมีแบบเดิม ทั้งที่ถ้าเลือกได้เกษตรกรทุกคนอยากทำเกษตรอินทรีย์เพราะเป็นผลดีต่อสุขภาพเขามากกว่า"
ผู้ประสานงานเครือข่ายฯกล่าวต่อว่า ล่าสุด เกษตรกรรายหนึ่งในเครือข่ายที่ปลูกมะละกออินทรีย์แต่หาตลาดขายไม่ได้ จึงนำไปขายในตลาดปกติ แต่กลับถูกกดราคาเหลือกิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้น ทั้งที่ราคากลางประมาณ 10 บาท โดยผู้ซื้ออ้างว่ามะลอดังกล่าวไม่สวย ไม่ใหญ่เท่าขนาดปกติ ทำให้เกษตรในเครือข่ายฯ ตัดสินใจขนมะละกอเหล่านั้นกลับมาทำปุ๋ยหมักทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
ทางเครือข่ายฯจึงได้นัดประชุมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2559 ที่ หมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งทางเครือข่ายฯมีการลงพื้นที่พบปะชาวกะเหรี่ยงที่ทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย สร้างสะพานเชื่อมให้ ผู้ปลูก - ผู้บริโภคได้เจอกัน?
ชลธิชา เหลิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง ProgressTH.org และหนึ่งในทีมขับเคลื่อนฯ กล่าวว่า ส่วนตัวได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเครือข่ายฯมานานและเห็นว่าทุกคนมีความตั้งใจดีและทำงานหนักมากๆ เพราะต้องเผชิญกับปัญหาตลอดการปลูกพืชผักต้องใช้เวลาไม่สามารถทำเสร็จในวันเดียว โดยเฉพาะที่ทุ่งยาว ต้องปลูกถึง2 รอบ เพราะรอบแรกถูกวัวเข้ามากินผักที่ปลูกไว้จนหมด ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหนือการคาดการณ์และการควบคุม แม้จะเสียใจแต่เกษตรกรก็ไม่ท้อ และเดินหน้าแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการปลูกซ้ำอีกรอบ
แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ คือ เกษตรกรยังหาตลาดที่รับซื้อต่อเนื่องยังไม่ได้ ทำให้สินค้าของเกษตรกรขายออกไม่หมด แม้ทางเครือข่ายฯเตรียมใจไว้แล้วว่ามันไม่ง่าย แต่บางครั้งเมื่อเห็นเกษตรกรท้อใจและบอกว่า "ขายไม่ได้ไม่เป็นไร เอากลับไปทำปุ่ยหมักได้" ก็รู้สึกแย่ไปด้วย เพราะพวกเขาต้องข่มใจกลบเกลื่อนความเสียใจอย่างมาก ถึงจะพูดแบบนั้นออกมาได้ เมื่อผลผลิตต้องถูกทิ้งแบบนี้
"ทุกวันนี้ก็พยายามหาตลาดในกรุงเทพฯเพื่อช่วยชาวบ้าน โดยพยายามศึกษากลุ่มต่างๆใน Social Media ต่างๆ ที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพราะทุกวันนี้ในฐานะเหมือนคนที่อยู่ตรงกลาง ที่เป็นทั้งเกษตรกรในพื้นที่และเป็นผู้บริโภคในกรุงเทพฯ รู้ดีว่ายังมี "ช่องว่าง" ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ที่ทำให้เกษตรกรขายสินค้าไม่ได้ ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงและยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งช่องว่างดังกล่าวต้องมีการเติมเต็มโดยให้ทั้งสองฝ่ายได้เจอกันโดยตรง น่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเกษตรกรมีตลาดขายสินค้าได้แน่นอนมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเองก็สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรมและเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่ายได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องคิดร่วมกันว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร"
ผู้ร่วมก่อตั้ง ProgressTH.org กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดี ที่ปัจจุบันมีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่หันมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ เช่นการที่ Fab Cafe ซึ่งเป็น Makerspace ได้เปิดพื้นที่ให้มี "ตลาดนัด Fab Farm" ทุกเดือน เพื่อให้เกษตรสามารถนำผลผลิตมาขายได้ แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็เห็นว่าผู้บริโภคในกรุงเทพฯพร้อมที่จะสนับสนุนสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง
นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของกลุ่ม Thailand Farmers' Market ที่เป็นกลุ่มผู้ขายสินค้าออร์แกนิคที่มีการรวมตัวกันจัดตลาดนัด Farmer Market ในหลายๆแห่งของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ ที่ K-Village สุขุมวิท 26 ที่ได้เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมาขายสินค้าได้ รวมถึงการรวมตัวกันของกลุ่มผู้สนใจออร์แกนิคทั้งในไลน์และเฟซบุค ที่น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ศักยภาพในการสร้างสะพานเชื่อมต่อผู้บริโภคถึงผู้ผลิตได้
แม้การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพชรบุรี จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ยังต้องเจออุปสรรคต่างๆอีกมาก แต่การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเกษตรอินทรีย์ทั่วทั้งจังหวัดยังต้องมีต่อไป เพราะภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อเกษตรกรในเพชรบุรีเท่านั้น แต่อาจจะยังสามารถเป็นต้นแบบและกรณีศึกษาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ๆอื่นในการทำงานร่วมกัน รวมถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่จะมีความมั่นคงทางอาหารพร้อมๆกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
ที่มา http://www.progressth.org/2016/09/blog-post.html#more
ติดตาม ProgressTH.org on Facebook ที่นี่ หรือ Twitter ที่นี่
รูปเพิ่มเติม https://drive.google.com/drive/u/0/folders/0B8A4ceKtcx6Xb3RJSjhOMy1reDg
https://www.facebook.com/anuphong.tr?fref=ts
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit