สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ "การอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ ในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง" ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัลปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก วัตถุประสงค์เพื่อเป็นกิจกรรมนำร่องเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล จัดการข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ "เมื่อมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนเกิดขึ้น จึงนำมาสู่กระบวนการพัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ชีวิต ประวัติศาสตร์ชุมชน การสำรวจแผนที่เดินดิน จนถึงการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าต้นไม้ชุมชนและตุ๊กตาชุมชน เรานำแนวคิดเหล่านี้มาประยุกต์เป็นเครื่องมือ โดยใส่แนวความคิดและคำถามในกระบวนการศึกษาเข้าไป จึงทำให้เกิดกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัว" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน เล่าถึงจุดเริ่มต้น
การอบรมครั้งนี้ประกอบด้วยครู อาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนนำร่องในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน ๘ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนร่มเกล้าเขาค้อ เพชรบูรณ์, โรงเรียนบึงสามพันวิทยาคม เพชรบูรณ์, โรงเรียนนครไทย พิษณุโลก, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ นครไทย พิษณุโลก, โรงเรียนชาติตระการ พิษณุโลก, โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ตาก, โรงเรียนบ้านเมืองเก่าศรีอินทราทิตย์ สุโขทัย และโรงเรียนอนุบาลท่าปลา (ชุมชนร่วมจิต) อุตรดิตถ์ ทุกคนสนุกสนานกับการศึกษา สืบค้นข้อมูล ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนจุดเปลี่ยนของครอบครัวและชุมชน
ภายหลังการอบรม ตัวแทนแต่ละโรงเรียนต้องกลับไปปฏิบัติจริง โดยมีบุคลากรสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติการเพื่อให้ได้ชุดข้อมูลที่พร้อมบูรณาการเป็นฐานองค์ความรู้ ตลอดจนโครงงานของนิสิตและโรงเรียนต่าง ๆ สู่กระบวนการพัฒนาด้านการเรียนการสอนระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน และท้องถิ่นต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวต่ออีกว่า "ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนากระบวนการการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อนำเข้าสู่เรียนการสอนในรายวิชาอารยธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนนำเครื่องมือทางการวิจัยไปแปลเป็นบทเรียนต่าง ๆ สู่การปฏิบัติภาคสนาม อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เช่น การสร้างหุ่นละครเล็ก การสร้างบทละคร ศิลปะการแสดง เส้นทางการท่องเที่ยว ชมรมการท่องเที่ยว เป็นต้น"
นางสาวจุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ ในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่างครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสังคม-วัฒนธรรม ๔ ภูมิภาค ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมีความมุ่งหวังจะพัฒนาฐานข้อมูลทางสังคม-วัฒนธรรม ในเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมประเด็นทางวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทั้งนี้นอกจากการได้ชุดข้อมูลประวัติศาสตร์โดยคนในท้องถิ่นแล้ว โครงการนี้ยังถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ นักเรียน นิสิต ครู อาจารย์ หรือแม้แต่นักวิชาการเองในการทำงานร่วมกัน เพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางด้านชุมชน และคาดหวังว่าชุดข้อมูลชุมชนจะถูกนำมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ทุกคนสามารถลิงก์ข้อมูลกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่าทุกชุดข้อมูลมีมาตรฐานเดียวกันและลิงก์กันได้ด้วยความเคารพในสิทธิของชุมชนและผู้ให้ข้อมูล"
"ที่สำคัญกิจกรรมครั้งนี้เป็นโครงการนำร่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หากทำแล้วสามารถถอดแบบเป็นโมเดลตามที่ต้องการ ก็จะเป็นต้นแบบให้กับภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป โดยหวังจะให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคลังข้อมูลทางสังคม–วัฒนธรรมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต" นางสาวจุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit