นางปิยะนุช รังคสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ ผู้จำหน่ายและให้บริการต่างๆเกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติจัดตั้งบริษัท เกียร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทย่อยแห่งใหม่ที่ TWZ ถือหุ้น 99.99% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนหรือเพื่อดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทนนั้น ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้บริษัท เกียร์ คอร์ปอเรชั่น เข้าลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท มาสเทค ทูล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในสัดส่วน 80% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 298.75 ล้านบาท
สำหรับบริษัท มาสเทค ทูล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด หรือ MASTECH เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตามสัญญาให้ผู้สนับสนุนโครงการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2558 โดย MASTECH เป็นผู้สนับสนุนโครงการในการดำเนินการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์การก่อสร้างการทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งโครงการตั้งอยู่ที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมหินซ้อน จำกัด ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
ทั้งนี้ MASTECH ร่วมกับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมหินซ้อน จำกัด ได้รับแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ. กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ลงวันที่ 29 เมษายน 2559 ซึ่งทางบริษัท MASTECH ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาเลขที่ PVF2-PEA-032/2559 เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 ก่อนที่จะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560
"การขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนของ TWZ ในครั้งนี้ เป็นการขยายไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเราคาดว่า จะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าปีละ 30-40 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นธุรกิจที่เราให้ความสนใจมาโดยตลอด และได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในที่สุด ซึ่งการเข้าถือหุ้น 80% ใน MASTECH ทำให้เราได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า (ร.ง.4) สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟภ. ที่ช่วยลดขั้นตอนเกี่ยวกับการจัดหาที่ดิน ใบอนุญาต และร่นระยะเวลาการลงทุนในโครงการ ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เรายังคงยืนยันว่า ธุรกิจหลักของ TWZ ยังคงเป็นธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด แต่การตัดสินใจขยายสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เพราะต้องยอมรับว่า แม้ว่าธุรกิจสื่อสารยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดีตามกระแสหลัก แต่การปรับตัวของรายได้มีความผันผวน เป็นไปตามฤดูกาลขาย ทำให้เราคิดว่า เราควรจัดโครงสร้างรายได้ให้มีความสมดุล เป็นโครงสร้างที่มีเสถียรภาพ ลดความผันผวน ซึ่งความสม่ำเสมอของรายได้จากการไฟฟ้าของธุรกิจใหม่ สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด" กรรมการผู้จัดการ TWZ กล่าว
นางปิยะนุชกล่าวด้วยว่า ฝ่ายบริหารและที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ ได้ร่วมกันประเมินและศึกษาความเป็นไปได้จากการลงทุนในโครงการดังกล่าว ด้วยการจัดทำประมาณการทางการเงินเป็นระยะเวลา 25 ปี และคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการ (Project IRR) ได้มากกว่า 12.07% โดยโครงการมีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ (NPV) เท่ากับ 79.24 ล้านบาท และมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 7.15 ปี ดังนั้น การลงทุนในโครงการดังกล่าวจึงสามารถสร้างผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมให้กับบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรและทำให้บริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมถึงมีเงินสดสำรองและมีสภาพคล่องเพื่อขยายธุรกิจในอนาคตอีกด้วยสำหรับแหล่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนทั้งการซื้อหุ้นสามัญของโรงไฟฟ้า การก่อสร้างและการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า จะมาจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงินประมาณ 230 ล้านบาทหรือ 80% ของเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70 ล้านบาท จะมาจากแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ โดยปัจจุบัน TWZ ได้ออกและเสนอขายตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บีอี) จำนวน 200 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจาเงินกู้โครงการกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติในวงเงิน 230 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขในการให้เงินกู้เมื่อบริษัทฯ สามารถจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์แล้วประมาณเดือนธันวาคม 2559 ถึงมกราคม 2560 ซึ่งก็จะสามารถนำเงินกู้จากสถาบันการเงินมาชำระคืนตั๋วแลกเงินได้ตามกำหนดในเดือนมกราคม 2560 ตามแผนที่วางไว้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit