ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสกลนคร พร้อมแจ้งเตือน 19 จังหวัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้

08 Sep 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสกลนครรวม 2 อำเภอ 8 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว พร้อมแจ้งเตือน 19 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม โดยประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย และน้ำไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสกลนคร รวม 2 อำเภอ 8 ตำบล โดยน้ำไหลหลากท่วมถนนในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์ ตำบลอุ่มจาน บ้านอุ่มจาน หมู่ที่ 1 บ้านบ่อพังแคน หมู่ที่ 2 และตำบลนาเพียง บ้านนาเพียงใหม่ หมู่ที่ 11 บ้านหนองปลาตอง หมู่ที่ 8 บ้านนาเพียงเก่า หมู่ที่ 2 อำเภอวานรนิวาส ตำบลธาตุ ตำบลนาซอ ตำบลครสวรรค์ ตำบลวานรนิวาส ตำบลขัวก่าย และตำบลหนองสนม ปัจจุบันระดับน้ำลดลง คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติในวันนี้ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร และมูลนิธิ เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยส่งเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย แจกจ่ายถุงยังชีพ และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้น รวมถึงระดมสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยปฏิบัติการซ่อมแซมสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา และระบบการสื่อสาร ให้ใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทุกภาค โดยจะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน กำแพงเพชร ตาก หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุทัยธานี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ปภ.จึงได้ประสาน 19 จังหวัดดังกล่าว ให้เตรียมการเฝ้าระวังและรับมืออันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบ สาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th