'เคทิส’ จับมือ 'วว.’ ส่งเสริมธุรกิจเครือข่ายชาวไร่อ้อย รับยุทธศาสตร์ชาติ-นโยบายรัฐ ดันชุมชนเข้มแข็ง

23 Sep 2016
กลุ่ม KTIS โดยบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อนำความรู้และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพิ่มศักยภาพการผลิต โดยเคทิสจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่ายเกษตรกร โดยเฉพาะชาวไร่อ้อย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเกษตรกรอย่างยั่งยืน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
'เคทิส’ จับมือ 'วว.’ ส่งเสริมธุรกิจเครือข่ายชาวไร่อ้อย รับยุทธศาสตร์ชาติ-นโยบายรัฐ ดันชุมชนเข้มแข็ง

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคทิส (KTIS) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย "การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย" ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กับ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม KTIS ว่า ในปัจจุบันกลุ่มเคทิสรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยประมาณ 20,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1.2 ล้านไร่ และมีทีมงานที่ดูแลชาวไร่อ้อยอย่างใกล้ชิดกว่า 700 คน อันแสดงถึงการเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมกับ วว. ในการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะส่งผลไปถึงการสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร

นายอภิชาต นุชประยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับ วว.ในครั้งนี้ ทาง วว. จะสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ส่วนกลุ่มเคทิสจะมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ เพื่อร่วมกันยกระดับศักยภาพการผลิตให้แก่เครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการในชุมชนให้มีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

"ในกระบวนการทำงานนั้น เคทิสกับ วว. จะมีการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเครือข่ายเกษตรกร ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลนี้" นายอภิชาตกล่าว