นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้มาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ได้กล่าวว่า "โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตามระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบ ๑๐๐% เพื่อผลิตนักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ที่มีความโดดเด่นทั้งทางวิชาการและทักษะการปฎิบัติ เพื่อรองรับในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ได้เติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยมีการเรียนและการปฏิบัติจริง จากครูฝึกซึ่งประกอบอาชีพอยู่ในสถานประกอบการของกลุ่มวังขนายและบริษัทในเครือ รวมถึงในภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีความสนใจ เป็นการให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา โดยได้จัดทำและพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการผลิต และการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจะได้มีการฝึกอาชีพตามหลักสูตรและฝึกปฎิบัติจริง รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน โดยทางสำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษา รับผิดชอบจัดหาอาคารศูนย์วิทยบริการ จำนวน ๑ หลัง อาคารเรียนและปฏิบัติการ จำนวน ๒ หลัง และอาคารโรงฝึกงาน จำนวน ๒ หลัง รวมทั้งสิ้น ๕ หลัง, จัดเตรียมงบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษา และจัดทำพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยว ข้อง รวมทั้งโครงการกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้นักเรียน นักศึกษาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคต จัดทำแนวทางการดำเนินงาน ประชุม วางแผน จัดระบบ ระเบียบ และกิจกรรมอื่น ๆ ส่งเสริมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ การวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งรวมทั้งติดตามประเมินผล และปรับปรุงเพื่อให้การศึกษามีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล การสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ผลักดันอาชีวศึกษาไทย สู่ทางเลือกเพื่ออนาคต ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และประเทศไทย"
ด้าน นายอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า "โครงการจัดตั้งวิทยาลัยฯ ในครั้งนี้ ทางกลุ่มวังขนาย ได้บริจาคที่ดินประมาณ ๓๐ ไร่ ซึ่งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๕๖ ในเขตอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างอาคารอำนวยการ จำนวน ๑ หลัง การปรับพื้นที่และทำระบบสาธารณูปโภค จัดสร้างอาคารโรงฝึกงาน จำนวน ๒ หลัง อาคารหอพักของนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน ๒ หลัง รวมทั้งสิ้น ๕ หลัง ให้กับสถานศึกษา โดยจะเปิดการเรียน การสอนประมาณปีการศึกษา ๒๕๖๑ จำนวน ๔ สาขาวิชา ได้แก่ ๑) สาขาเทคโนโลยีการผลิตอ้อย (เน้นอ้อยอินทรีย์) ๒) สาขาการบริหารจัดการระบบโลจิสติค ๓) สาขาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาล และ ๔) สาขาเทคโนโลยีชีวมวล นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ สอศ. จัดทำแผนงานโครงการเกี่ยวกับงบประมาณของอาคารสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และวัสดุ ครุภัณฑ์ ในการเป็นสถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศเต็มรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนในด้านอื่นๆ แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าจะเป็นการขยายบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตอ้อยออร์แกนิค ซึ่งทางกลุ่มวังขนายมีความเชี่ยวชาญ และเป็นบริษัทฯ เพียงแห่งเดียวที่ผลิตได้ในประเทศไทย นอกจากนี้การร่วมมือดัง กล่าวถือว่าเป็นการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยี และการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งได้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มวังขนาย"
โดยผู้สนใจใน โครงการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยี และการบริหารจัดการ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี จะสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษา โทรศัพท์ 02-2815555 และที่กลุ่มวังขนาย โทรศัพท์ 02-2100853 ต่อ 82402 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป