• พร้อมทีมยูพีเอสคอยช่วยเหลือลูกค้าในการนำโซลูชั่นการผลิตด้วยการพิมพ์ 3 มิติพร้อมบริการจัดจำหน่ายไปผนวกเข้ากับซัพพลายเชนของตน
• ผู้ผลิตสินค้าได้รับโซลูชั่นครบวงจรแบบ "เชื่อมโยงกระบวนการผลิตตรงสู่มือลูกค้า" จากเครือข่ายการผลิตด้วยเทคนิคการสร้างชิ้นงานโดยการเติมวัสดุ (Additive Manufacturing) และโลจิสติกส์ระดับโลกของยูพีเอส พร้อมด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นร่วมกับ SAP
ยูพีเอสจับมือฟาสต์เรเดียส เตรียมเปิดโรงพิมพ์ 3 มิติในสำนักงานของยูพีเอสที่สิงคโปร์ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อขยายเครือข่ายให้บริการการพิมพ์ 3 มิติตามสั่งเข้าสู่เอเชีย ทำให้ลูกค้าสามารถเสริมประสิทธิภาพของซัพพลายเชนด้วยเทคนิคการสร้างชิ้นงานโดยการเติมวัสดุ (Additive Manufacturing) ของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในกระบวนการผลิต
ในโอกาสนี้ ยูพีเอสยังได้จัดตั้งทีม Advanced Solutions และศูนย์ Centre of Excellence ในเอเชีย เพื่อพัฒนาโซลูชั่นด้านซัพพลายเชนและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สำหรับลูกค้า ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก Demand Production Platform™ ของฟาสต์เรเดียสเพื่อผลิตชิ้นส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ และส่งตรงสู่ลูกค้าอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายการขนส่งของยูพีเอสทั้งในระดับโลกและภายในภูมิภาคเอเชีย
รอส แม็คคัลลา ประธาน ยูพีเอส เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจะส่งผลอย่างมหาศาลต่ออุตสาหกรรมการผลิตและระบบซัพพลายเชนในศตวรรษที่ 21 โดยที่ยูพีเอส เราสนับสนุนเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติโลกยุคใหม่ และนำมาผนวกรวมกับเครือข่ายโลจิสติกส์ระดับโลกของเรา เราเชื่อว่าการพิมพ์ 3 มิติ จะส่งผลกระทบอย่างเด่นชัดต่อภาคการผลิต เช่นเดียวกับที่อีคอมเมอร์ซได้พลิกโฉมและนำอุตสาหกรรมค้าปลีกสู่แพล็ตฟอร์มดิจิทัลมาแล้ว"
"ยูพีเอสนับเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรรายแรกที่ตั้งเครือข่ายการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติและโลจิสติกส์ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยเสริมความแกร่งในฐานะศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคนี้ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น" รอสกล่าวเสริม
ในการประกาศการขยายบริการของยูพีเอสครั้งนี้ มีผู้แทนจากสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ พร้อมทั้งพันธมิตร คือฟาสต์เรเดียส และ SAP เข้าร่วมงานด้วย ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยูพีเอสและ SAP ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ในโซลูชั่นใหม่ซึ่งจะผนวกรวมโซลูชั่นซัพพลายเชนและ Internet of Things ของ SAP เข้าไปในเครือข่ายโลจิสติกส์และการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติของยูพีเอส ซึ่งเป็นการ "เชื่อมโยงกระบวนการผลิตตรงสู่มือลูกค้า"
ธุรกิจที่สามารถประเมินปริมาณการใช้วัสดุคงคลังได้ จะไม่เพียงประหยัดต้นทุนโดยลดจำนวนชิ้นส่วนสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเผื่อขาดเผื่อเหลือ แต่ยังสามารถผลิตในปริมาณที่น้อยลง ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่า โดยที่ได้คุณภาพเหมือนเดิม นอกจากนั้น ยังช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการ เพราะชิ้นส่วนสินค้าเหล่านี้สามารถสั่งผลิตได้ในโรงพิมพ์ 3 มิติที่ตั้งอยู่ใกล้กับจุดหมายปลายทางที่ต้องการมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจทุกขนาดสามารถใช้ประโยชน์จากการพิมพ์ 3 มิติในด้านต่าง ๆ เช่น
• ลดปริมาณวัสดุคงคลังสำหรับชิ้นส่วนที่มีการหมุนเวียนช้า
• ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพราะสามารถสั่งผลิตสินค้าผ่านระบบดิจิทัลได้ที่ปลายทาง
• ลดต้นทุนและระยะเวลาในกระบวนการผลิตเมื่อเทียบกับการผลิตแบบเดิม
• สามารถออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ในต้นทุนและเวลาที่น้อยลง
• สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าตามความต้องการได้ด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่าเดิม
• สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบคุณภาพสูงได้อย่างรวดเร็ว
มิเชล โฮ กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส สิงคโปร์ กล่าวว่า "ศูนย์ Centre of Excellence พร้อมบริการการพิมพ์ 3 มิติของยูพีเอส คือสิ่งเน้นย้ำถึงความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในเอเชียและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ การตั้งโรงพิมพ์ 3 มิติของฟาสต์เรเดียสโดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายยูพีเอสในสิงคโปร์จะช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งผลิตสินค้าด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติภายในเวลา 5 โมงเย็น เพื่อผลิตชิ้นงานและส่งให้ลูกค้าของตนในเมืองหลัก ๆ ทั่วเอเชียได้ภายในเวลาเพียง 24 ชม. ซึ่งจะส่งผลวิธีการดำเนินงานของบริษัทผู้ผลิตสินค้าในสิงคโปร์และภูมิภาคเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในระยะของการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อนที่จะผลิตออกจำหน่ายในตลาด เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเร่งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติไปใช้ และผลักดันให้บริการนี้เป็นบริการหลักสำหรับลูกค้าของเราในทั่วภูมิภาค"
ลี อิง คีท ผู้อำนวยการด้านธุรกิจโลจิสติกส์ สำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า "การตั้งโรงพิมพ์ 3 มิติระดับนานาชาติแห่งแรกครั้งนี้คือสิ่งยืนยันถึงความพร้อมของสิงคโปร์ในการจับมือกับบริษัทโลจิสติกส์ต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมโซลูชั่นซัพพลายเชน เราเชื่อมั่นว่าเทคนิคการสร้างชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะพลิกโฉมระบบซัพลายเชนในอนาคต และการเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในด้านนี้จะช่วยเสริมความแกร่งให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ผ่านนวัตกรรมโมเดลธุรกิจและการสร้างโซลูชั่นใหม่ ๆ"
บุนเทียม ตัน กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย เสริมว่า "การเปิดตัวโรงพิมพ์ 3 มิติแห่งใหม่ของยูพีเอสที่สิงคโปร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการผลิตมากที่สุดตัวหนึ่ง การพิมพ์ 3 มิติช่วยให้ธุรกิจเสริมสร้างประสิทธิภาพ และลดระยะเวลาการผลิต เพราะสามารถประเมินการใช้วัสดุคงคลังได้แม่นยำและผลิตสินค้าได้ด้วยปริมาณวัสดุที่ใกล้เคียงกับอัตราการใช้จริง และด้วยความสามารถในการผลิตสินค้าตามความต้องการเฉพาะจำนวนมากได้แบบตามสั่ง จึงเชื่อแน่ได้ว่าการพิมพ์ 3 มิติจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจด้านนวัตกรรมและเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทยขยายตัวและคึกคักมากขึ้นในยุคดิจิทัลของวันนี้"เมื่อโรงพิมพ์ 3 มิติแห่งใหม่นี้เปิดบริการ ลูกค้าสามารถสั่งผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติผ่านเว็บไซต์ของฟาสต์เรเดียส หรือติดต่อตรงที่โรงพิมพ์ซึ่งตั้งอยู่ที่ยูพีเอสเฮาส์ในสิงคโปร์ คำสั่งผลิตจะส่งต่อไปยังโรงพิมพ์ที่สิงคโปร์หรือสหรัฐอเมริกาโดยขึ้นอยู่กับความเร็วในการจัดส่ง จุดหมายปลายทาง และคุณภาพของชิ้นงาน โดยยูพีเอสจะจัดส่งได้เร็วที่สุดภายในวันนั้น ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา เครือข่ายการพิมพ์ 3 มิติมีให้บริการใน UPS Store® กว่า 60 แห่ง ในเมืองต่าง ๆ ทำให้มีเครือข่ายการสั่งพิมพ์อย่างกว้างขวางและครอบคลุมหลายพื้นที่
ริค สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟาสต์เรเดียส กล่าวว่า "การขยายธุรกิจสู่เอเชียด้วยความร่วมมือกับยูพีเอสคือก้าวสำคัญของเราสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างแพล็ตฟอร์มการผลิตและการจัดจำหน่ายบนเครือข่ายระดับโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้ โดย Wohlers Report 2016 ประเมินว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติจะเติบโตจากมูลค่า 5.2 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2558 เป็น 26.5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2564 และหากภาคการผลิตเพียง 5% ของเศรษฐกิจโลกหันมาใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ก็จะส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงถึง 640 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี"
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการการพิมพ์ 3 มิติของยูพีเอส สามารถค้นหาได้ที่ www.ups.com/3Dprinting นอกจากนั้น ยังหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ UPS Newsroom หรือ SAP NewsCenter ยูพีเอสคือหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนของฟาสต์เรเดียสผ่านกองทุน UPS Strategic Enterprise Fund ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนร่วมลงทุนที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและองค์ความรู้จากการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีและในตลาดเศรษฐกิจใหม่ต่าง ๆ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit