การจัดกิจกรรมประกวดป่าชุมชน ตามโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี" เป็นโครงการต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2555 ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนชุมชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตกลงความร่วมมือที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อ ในระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2556-2560 เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของป่าชุมชน และทำการคัดเลือกป่าชุมชนที่มีแผนงาน ระบบ กระบวนการในการอนุรักษ์และพัฒนาป่าอย่างเข้มแข็งตามโครงการ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน สามารถเป็นชุมชนตัวอย่างและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนอื่นได้
"ทั้งนี้ กรมป่าไม้ และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดขอบเขตความร่วมมือไว้ 5 ด้าน ดังนี้ ด้านการประกวดป่าชุมชน โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ด้านการสร้างเครือข่ายป่าชุมชน ด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านกิจกรรมความร่วมมืออื่น ๆ ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมนี้จะทราบผลผลผู้ชนะเลิศ ระดับประเทศโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" ประจำปี 2559 จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าชุมชน" อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
ด้านนางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ เล่าว่า จากการดำเนินการคัดเลือกป่าชุมชนในทั่วประเทศใช้ เวลากว่า 3 เดือน ขณะนี้ได้ป่าชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ในระดับภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง เป็นที่เรียบร้อย และผู้ชนะเลิศในระดับภูมิภาค มีดังนี้
ป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม จ.เลย มีลักษณะเด่นเรื่องพลวัตในการก่อเกิดของผืนป่า โดยการสร้างเครือข่ายจิตอาสาในชุมชน ที่เริ่มจากความสัมพันธ์ส่วนตัวผ่านความเป็นเครือญาติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มเล็กๆก่อนขยายไปสู่ระดับชุมชน สร้างแนวร่วมในการดูแลป่า ผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น กิจกรรมบวชป่าเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่จะอนุรักษ์ป่าชุมชน กิจกรรมขุดลอกและเลี้ยงผีเจ้าที่ซำอีเลิศเพื่อฟื้นฟูตามความเชื่อดั้งเดิม การใช้สื่อวิทยุท้องถิ่น การดึงนักวิชาการท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเข้ามาทำการวิจัย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดการป่าของหน่วยงานและชุมชนต่างๆ
ป่าชุมชนบ้านผาปังหลวง จ.ลำปาง มีจุดเด่นในเรื่องของการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีวภาพที่หลากหลาย มีการจัดการเศษวัสดุไผ่จากสถานีตะเกียบในตำบลผาปังและชุมชนพื้นที่ข้างเคียง มาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำถ่านอัดแท่ง ให้เกิดเป็นพลังงานทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม และได้นำเยื้อไผ่มาผลิตภาชนะไบโอ เช่น แก้ว ชาม ฯลฯ ผ่านการฆ่าเชื้อราด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์
ป่าชุมชนบ้านอ่างน้ำผุด จ.สุราษฎร์ธานี เป็นป่าต้นน้ำพื้นที่ อ่างน้ำผุดมีธารน้ำจืดผุดขึ้นมาบนผิวดินจำนวนมาก ลำน้ำที่เกิดจากป่าต้นน้ำแห่งนี้ได้หล่อเลี่ยงพื้นที่เกษตรกรรมและการดำรงชีพของราษฎร ด้วยความสำคัญนี้ทำให้เป็นที่หวงแหนของชุมชนและได้ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำการพัฒนาพื้นที่สู่การท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ เช่น การศึกษาธรรมชาติด้านพันธุ์ไม้ ล่องเรือคายัค ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย
และป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน จ.สุพรรณบุรี มีต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นลักษณะเด่น ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไปของบริเวณพื้นที่ป่าชุมชน เช่น ไทร ทองหลาง ตะคร้อ ฯลฯ และต้นไม้พื้นล่างอย่าง กลอย เปราะ เฟิร์น มีจุดท่องเที่ยวคือแหล่งหินธรรมชาติ ถ้ำหน้าผา น้ำตกเขาวง อ่างเก็บน้ำเขาวง กรมป่าไม้และราษฎรมีการร่วมกันวางแผนส่งเสริมการอนุรักษ์ผืนป่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ สร้างรายได้ให้กับราชฎร
ป่าชุมชนทั้ง 4 แห่ง มีการจัดสรรพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นเพราะประชาชนมีความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือของคนในชุมชน สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลังของโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" คือการปลูกฝังให้ประชาชนทุกคนร่วมให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ และรู้จักวิธีการใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืนสืบไป