นายพัลลภ ภิญโญวิวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ PEA ENCOM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค( PEA) เปิดเผยว่า ล่าสุด พีอีเอ เอ็นคอม ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เดินหน้าแผนการลงทุนด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยได้รับอนุมัติกรอบการลงทุนผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ในวงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะเน้นไปที่โครงการโซลาร์ฟาร์ม ทั้งนี้ในปี 2559 พีอีเอ เอ็นคอม ได้ดำเนินการร่วมทุนกับภาคเอกชนและมีไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบแล้ว 35 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 2560 อีกประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันพลังงานทดแทนของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ หากพิจารณาจากแนวโน้มทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยคงต้องขยายสัดส่วนพลังงานทดแทนจากปัจจุบันที่มีไม่ถึง 10% ของพลังงานรวมทั้งประเทศ ไปเป็นประมาณ 30% ของพลังงานรวมทั้งประเทศในอนาคตอันใกล้นี้
"เพื่อเป็นการเดินหน้าธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ล่าสุด พีอีเอ เอ็นคอม จึงได้ประสานความร่วมมือกับ บริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านระบบโซลาร์ เซลล์ หรือระบบพลังงานแสงอาทิตย์มากว่า 14 ปี ตลอดจนเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านระบบโซลาร์ของแบรนด์ชั้นนำระดับโลกพร้อมให้บริการแบบครบวงจร เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมกันขยายการเติบโตในการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง ฟ้าชัย วิศวกรรม จะพัฒนาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ระดับคุณภาพให้แก่ พีอีเอ เอ็นคอม เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและคุ้มค่าด้านการลงทุนจากปัจจุบันสู่อนาคต ซึ่งถือเป็นการกลไกหลักในการช่วยกระตุ้นและผลักดันการผลิตและลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ให้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเอื้อให้ภาครัฐและเอกชนตลอดจนภาคครัวเรือนที่สนใจเข้าร่วมในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนดังกล่าวเพิ่ม นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้แก่ระบบพลังงานของประเทศไทย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และยังเป็นช่องทางในการนำเทคโนโลยีที่ดีมีคุณภาพสูงเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นผ่านทาง PEA Shop ที่มีอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย" นายพัลลภ ภิญโญวิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายโชติทิวัตถ์ จิรภัทรพุฒิธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแบบครบวงจรเกี่ยวกับระบบโซลาร์ เซลล์ชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ฟ้าชัย วิศวกรรม มีทีมงานวิศวกร ทั้งไฟฟ้า โยธา เครื่องกลและสถาปนิก ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์หลักของแบรนด์ชั้นนำระดับโลกสำหรับระบบโซลาร์ เซลล์ แบบครบชุด ประกอบด้วย โซลาร์ อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter) แบรนด์ KACO new energy จากประเทศเยอรมนี, แผงโซลาร์ เซลล์ (Solar Panel) แบรนด์ Hanwha Solar จากประเทศเกาหลีใต้ และชุดอุปกรณ์ขายึดแผงโซลาร์ เซลล์ (Solar Mounting System) แบรนด์ Clenergy จากประเทศออสเตรเลีย และด้วยศักยภาพดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถให้บริการแบบครบวงจร (Turn Key หรือ EPC) ตั้งแต่ขนาดการผลิตเป็นกิโลวัตต์ไปจนถึงขนาดเป็นเมกกะวัตต์
"ระบบโซล่าร์ เซลล์ ที่ดีต้องมีอายุการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 25 ปี บริษัทฯ จึงเน้นมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขายเป็นหลัก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นตัวแทนจำหน่ายและให้บริการนั้นจะต้องได้รับการทดสอบจริงจากเรา รวมทั้งการไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตและที่สำคัญคือต้องมีนโยบายธุรกิจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย โดยบริษัทฯ ได้ส่งทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ความรู้ด้านติดตั้ง และงานบริการหลังการขายจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าผลงานติดตั้งและบริการหลังการขายที่ออกมาเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมของโรงงานผู้ผลิตภายใต้มาตรฐานเดียวกัน"
เกี่ยวกับมุมมองการเติบโตของผู้ให้บริการด้านธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยนั้น นายโชติทิวัตถ์ จิรภัทรพุฒิธนา แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า "บริษัทฯ เชื่อว่าตลาดจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปี และหากภาครัฐให้การส่งเสริมเพิ่มขึ้น อาทิ ผ่อนปรนกฎระเบียบที่ซับซ้อน หรือจัดตั้งหน่วยงานเพื่อให้บริการรับเรื่องและอนุมัติเบ็ดเสร็จในที่เดียวในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ก็จะยิ่งทำให้อัตราการขยายตัวของตลาดสูงมากขึ้น ในส่วนของ ฟ้าชัย วิศวกรรม เองเราก็ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองเช่นกัน โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายบริการในรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก เช่น Solar Storage, EV Charge Station เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาผ่านสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า และน่าจะมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำเสนอสู่ตลาดเร็วๆ นี้ "
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit