เที่ยวเชียงคานแนวใหม่ ใส่การเรียนรู้คู่ความสนุกสนาน สืบสานศิลปวัฒนธรรม Culdutainment...ด้วยพลังแห่งชุมชน บนพื้นฐานของการศึกษา วิจัย

22 Sep 2016
เชียงคาน จังหวัดเลย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันทรงเสน่ห์ ภาพของการปั่นจักรยานดื่มด่ำธรรมชาติริมโขง ชมบ้านไม้เก่า ชิมอาหารพื้นถิ่น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ช่างชวนให้หลงใหล ใฝ่ฝัน แต่นอกเหนือจากนี้แล้วเชียงคานยังมีเอกลักษณ์ความโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้ได้ศึกษา ชื่นชมอีกมากมาย
เที่ยวเชียงคานแนวใหม่ ใส่การเรียนรู้คู่ความสนุกสนาน สืบสานศิลปวัฒนธรรม Culdutainment...ด้วยพลังแห่งชุมชน บนพื้นฐานของการศึกษา วิจัย

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย หรือ อพท.๕ จัดโครงการ "การสร้างภาพลักษณ์จุดหมายปลายทาง (Destination Branding) และกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนถนนสายวัฒนธรรม บ้านไม้เก่าริมโขงและพื้นที่เชื่อมโยง" ขึ้น

"โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อการบูรณะ ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อรักษาไว้ซึ่งแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน เพื่อสงวนรักษาให้มีคุณค่าที่ยั่งยืนในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ โดยเริ่มจากการประชุมเพื่อระดมความรู้ ความคิดเห็นของคนในชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน ถนนสายวัฒนธรรม เพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเชียงคาน ที่เรียกว่า Culdutainment" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงที่มาของโครงการ

ลุงสำเนียง ทาก้อม ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงคาน เล่าว่า "เนื่องจากชาวเชียงคานมีบรรพบุรุษมาจากหลวงพระบาง ดังนั้นวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเชียงคานจะผสมผสานระหว่างไทยกับลาว กลายเป็นถนนวัฒนธรรมริมโขงที่มีความหลากหลาย ด้วยระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ตั้งแต่ซอย ๐ – ๒๑"

ส่วนสาเหตุที่มีซอย ๐ นั้น ลุงสำเนียงบอกว่า "เนื่องมาจากเป็นซอยที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่ออะไร เลยให้ชื่อว่าซอย ๐"ตลอดระยะทาง ๒๒ ซอย ประกอบไปด้วยวิถี วัฒนธรรม ศิลปะ ภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม ให้เราได้บันทึก ศึกษา เรียนรู้ ชื่นชม ได้อย่างไม่รู้จบสิ้น

ปั่นจักรยาน ชมบ้านไม้เก่า คละเคล้าธรรมชาติ

การปั่นจักรยานดื่มด่ำธรรมชาติริมโขง สูดอากาศบริสุทธิ์ พร้อมชื่นชมชมบ้านไม้เก่า เอกลักษณ์ที่มีแทบทุกจุดทุกซอย เช่น โรงหนังเก่า โรงแรมแห่งแรกของเชียงคาน บ้านไม้ที่เก่าแก่ที่สุดคือ บ้านเจ้าเมืองมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ยังคงเห็นสภาพการสร้างตามวัสดุเดิม เช่น ไม้ไผ่จักสาน อิฐหัก ปูนฉาบ หลังคาบ้าน ฯลฯตักบาตรข้าวเหนียว เที่ยววัดสำคัญ

ตื่นเช้ามาไม่ต้องไปทำบุญที่ไหนไกล ชุดข้าวเหนียว อาหารแห้ง ดอกไม้ ถูกจัดวางเรียงรายอยู่ริมถนน รอพระสงฆ์เดินมาบิณฑบาต อิ่มบุญกันตั้งแต่เช้ามืด จากนั้นไปเที่ยวชมวัด ซึ่งวัดที่เชียงคานล้วนเป็นวัดเก่าแก่ วัดส่วนใหญ่สร้างลักษณะคล้ายวัดในหลวงพระบาง เช่น วัดศรีคุณเมือง วัดมหาธาตุ วัดท่าคก วัดโพนชัย เป็นต้น

อาหารพื้นถิ่น หอมกลิ่นมะพร้าวแก้วเชียงคานอยู่ริมโขง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา กุ้ง ที่นำมาปรุงเป็นอาหารท้องถิ่น เช่น ต้มปลา ลายปลา หมกปลา กุ้งฝอย กุ้งเสียบ ข้าวจี่ เมี่ยงคำ ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว ตำด๊องแด๊ง ส่วนของฝากจะเป็นข้าวหลามยาว ที่มีความยาวเป็นเมตร หมูแหนมมัดห่อใบตอง และอาหารที่รับอิทธิพลมาจากหลวงพระบาง คือ จุ่มนัว ทำไมต้องเป็นมะพร้าวแก้วเชียงคาน? ทั้งที่เราสามารถหาซื้อมะพร้าวแก้วได้ทั่วไป มิหนำซ้ำเชียงคานไม่มีต้นมะพร้าวอีกต่างหาก คำตอบอยู่ ณ แก่งคุดคู้ แหล่งผลิต พบว่าเคล็ดลับความอร่อยของมะพร้าวแก้วเชียงคาน คือการใช้เนื้อมะพร้าวอ่อนแทนมะพร้าวเนื้อแก่ ผสมผสานกระบวนการ เทคนิคเฉพาะตัว ออกมาเป็นมะพร้าวแก้วในแบบเชียงคาน มีหลายเกรดให้เลือก ทั้งแบบเนื้อหนา นุ่ม ละมุนลิ้น เรียกได้ว่าละลายในปากเลยทีเดียว หรือใครชอบแข็งและหวานน้อยหน่อยก็ลดเกรดลงมา เพริศแพร้วลีลา ท่ารำเบิ่งโขง ผสมโรงดนตรี

"รำเบิ่งโขง" ด้วยลีลาการร่ายรำอันอ่อนช้อย เสื้อผ้าการแต่งกายเฉพาะถิ่น ผสานกับดนตรีแบบพื้นเมือง คือการแสดงพื้นบ้านที่ชาวเชียงคานใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นเพลงที่ร้อง รำ ฟ้อน ด้วยความสนุกสนาน สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน เนื้อหาและท่ารำล้วนสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนเชียงคานที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นเสมือนเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิต

การละเล่นผีขอน้ำ

เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวนาซ่าว อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวไทพวน นิยมจัดขึ้นในช่วงงานบุญเดือน ๖ เพื่อบูชาบรรพบุรุษ ผีเจ้าปู่ เจ้าย่า ตลอดจนผีบรรพบุรุษในหมู่บ้านได้ปกปักรักษา คุ้มครองตนเองและคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินได้อย่างอุดมสมบูรณ์ สาเหตุที่เรียกว่าผีขนน้ำนั้น เนื่องจากงานนี้อยู่ในช่วงงานบุญเดือน ๖ ของทุกปี จะมีฝนตกทุกครั้ง ผู้ที่เล่นผีขนน้ำส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มและเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน โดยการจัดเตรียมแต่งตัวหัวผีขนของตัวเอง ทำจากไม้เนื้ออ่อนมาสลักเป็นรูปหน้ากาก วาดลวดลายลงสีต่าง ๆ ตามความเชื่อและจินตนาการ การละเล่นผีขนน้ำจะเต้นรำอย่างสนุกสนาน โดยผู้เข้าร่วมขบวนจะตีกลอง ตีเคาะ ปรบมือ เป่าแคน ดีดพิณ เกิดจังหวะสนุกสนานไปตลอดขบวน

ที่บ้านนาซ่าวยังมีการสาธิตการเพ้นท์หน้ากากผีขนน้ำ และให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือเพ้นท์เพื่อเป็นของที่ระลึกติดมือกลับบ้านไปด้วย ทำผ้าห่มนวมฝ้ายโรงหีบฝ้ายบ่วยเฮียง เป็นโรงหีบฝ้ายแห่งแรกของเชียงคาน ที่ยังคงสืบสานการทำผ้าห่มนวมฝ้ายแบบดั้งเดิม ซึ่งต้องใช้ฝีมือ และความชำนาญอย่างยิ่ง

ในอดีตคนเชียงคานปลูกฝ้ายกันเป้นจำนวนมาก และทำผ้าห่มนวมฝ้ายกันแทบทุกครัวเรือน ทั่วทั้งอำเภอเลยทีเดียว แต่ปัจจุบันคนในพื้นที่หันไปทำอาชีพอื่นกันเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีการปลูกฝ้าย และทำผ้านวมฝ้ายอีกแล้ว ต้องซื้อฝ้ายจากลาว ซึ่งดูเหมือนคนลาวก็จะปลูกฝ้ายน้อยลงด้วยเช่นกัน เท่านั้นไม่พอ ยังมีผ้าห่มนวมจากที่อื่นมาตีตลาด ซึ่งราคาถูกกว่าที่นี่มากดังนั้นการอนุรักษ์จึงต้องควบคู่ไปกับการประยุกต์ พัฒนา นอกเหนือจากผ้าห่มนวมฝ้ายแล้ว หน้าร้านของบ่วยเฮียงจึงมีทั้งผ้าพันคอ ผ้าห่มทอมือ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดมือ และผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นที่รู้จักทั่วเชียงคานและพื้นที่ใกล้เคียง...และยังหวังว่าผ้าห่มนวมฝ้ายยังเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ของเชียงคาน

เครื่องใช้จักสาน

จากกอบงซึ่งเป็นไม้ตระกูลเดียวกับไผ่แต่ไม่มีหนาม ถูกนำมาตัด ทำให้เป็นเส้นนิ่มและเหนียว ตากแดด พรมน้ำเล็กน้อย สานเป็นภาชนะต่าง ๆ เช่น กระติบข้าวเหนียว หวดนึ่งข้าวเหนียว โคมไฟ ภาชนะสำหรับใส่ของทำบุญ งอบ พัด เป็นต้น ฝีมือลุงอ้วน โสคำ ป้าสมบูรณ์ โสคำ และลุงคูณ จงใจ ซึ่งปัจจุบันทำไว้ใช้เอง และจำหน่ายเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว งานจักสานเป็นงานละเอียด ประณีต พิถีพิถัน ต้องใช้สมาธิและความอดทน ปัจจุบันจึงหาผู้สืบทอดได้ยาก

การนวดยองเส้น

นวดยองเส้น แม่คำก้อย อันขึ้นชื่อ ด้วยศาสตร์การนวดอันโดดเด่น แตกต่าง ผสมผสานภูมิปัญญาจากคนเฒ่าคนแก่ กอปรกับการศึกษาเรื่องเส้นในร่างกายตามหลักทางการแพทย์ โดยใช้เท้านวดเป็นหลัก มีเทคนิคคือการผูกผ้าขาวม้าไว้ที่ขื่อ เพื่อให้ผู้นวดสามารถยกตัว ทิ้งตัวตามน้ำหนักที่ต้องการได้ ปัจจุบันมีท่านวดที่เกิดจากการศึกษาและคิดค้นขึ้นมาเองกว่า ๑๐๐ ท่า เมื่อนวดเสร็จจะมีการบำบัดโดยใช้หินมาวางทับกดจุดตามหน้าท้อง ฝ่ามือ ใบหน้า เพื่อความผ่อนคลาย

เน้นศิลปะกระดาษ

นอกจากงานจักสานแล้ว ลุงคุณ จงใจ ยังเป็นผู้สืบสานงานศิลปะจากกระดาษด้วย โดยได้วิชามาจากครู ตัดเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น สร้อยสา เกศกษัตริย์ ข้าวหลามตัด พวงมาลัย เชิงชายหรือบัวคว่ำบัวหงาย ตีนตะขาบ จักรหรือกงจัก ดาว ใบผักแว่น ดอกมะลิ ปีกจักจั่น เป็นต้น สำหรับใช้ประดับประดาในงานต่าง ๆ เช่น งานบวช งานศพ งานกองหดหรือหดสรงซึ่งเป็นพิธียกย่องเชิดชูพระสงฆ์ที่ประพฤติดี ลุงคูณพยายามพัฒนาลวดลายใหม่ ๆ แต่ยังคงอนุรักษ์ลวดลายดั้งเดิมไว้ ปัจจุบันลุงคูณได้รับการยกย่องเป็นครูศิลป์แห่งแผ่นดินที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้สนใจ ทั้งยังตระเวนเป็นวิทยากรพิเศษตามโรงเรียนต่าง ๆ ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ด้วยหวังให้งานตัดกระดาษเป็นหนึ่งศิลปะ ภูมิปัญญาที่มีผู้สืบทอด

ผาสาดลอยเคราะห์

พิธีกรรมความเชื่อเพื่อขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยของคนเชียงคานที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ผาสาดมีลักษณะคล้ายกระทงทำจากกาบกล้วย โดยการทำฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตกแต่งด้วยกรวยใบตอง ดอกไม้ ขี้ผึ้งหรือเทียน เมือตกแต่งเสร็จแล้วใส่เส้นผมหรือเล็บของตนเองลงไป จากนั้นนำไปลอยที่แม่น้ำโขง เพื่อให้สิ่งที่ไม่เป็นมงคลไหลไปกับสายน้ำ โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำผาสาด และนำไปลอยเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง

เลาะแก่งคุดคู้

จากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ ๓ กิโลเมตร พบกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ "แก่งคุดคู้" ที่มีตำนานการก่อเกิดแก่งหินขนาดใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขงเกือบจรดสองฝั่งไทย-ลาว มีกระแสน้ำเชี่ยวกรากไหลผ่านช่องแคบ ๆ บริเวณใกล้ฝั่งไทย ให้นักท่องเที่ยวได้สูดอากาศบริสุทธิ์ พักผ่อนหย่อนใจ สัมผัสบรรยากาศริมฝั่งโขงอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่น เสื้อผ้า ของที่ระลึกให้ได้เลือกซื้อกันอีกด้วย

สำหรับช่วงชมแก่งคุดคู้ที่ดีที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน และสามารถเดินลงไปเพื่อสัมผัสบรรยากาศของริมน้ำโขงได้อย่างใกล้ชิด

ดูวิถีไทดำ

เยี่ยมชมวิถี วัฒนธรรมของชาวไทดำ ณ บ้านนาป่าหนาด ห่างจากตัวเมืองเชียงคาน ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ทึ่งกับภูมิปัญญาศิลปะผ้าทอมือ มรดกตกทอดที่ทำสืบต่อกันมากว่า ๑๐๐ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งซิ่นนางหาญ ผ้าซิ่นที่มีลวดลาย โดดเด่น สวยงาม และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนที่อื่นใด นอกจากนี้ชาวไทดำบ้านนาป่าหนาดยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี การประดิษฐ์ ตุ้มนกตุ้มหนู เพื่อประดับต้นปางเป็นเครื่องบรรณาการในพิธีแซปางของไทดำ เพื่อขอบคุณ "ผีบรรพบุรุษ" หรือ "ผีฟ้า" ผู้ปกป้องรักษาชาวไทดำให้อยู่เย็นเป็นสุข

สุขล้ำโฮมเสตย์

เหน็ดเหนื่อยกับการท่องเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชาวเชียงคานมาทั้งวัน ขอเชิญพักผ่อนในโฮมเสตย์ บ้านของชาวเชียงคานที่แบ่งสรรสำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสกลิ่นอายวิถีเชียงคานอย่างถึงแก่น

นี่คือเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม (Culdutainment) ริมน้ำโขงเชียงคาน ที่ไม่ได้ให้เพียงความสนุกสนานเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวยังได้ร่วมศึกษา เรียนรู้ สู่การอนุรักษ์ พัฒนา สืบสานวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของเชียงคานอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ องค์กรและชุมชน

เที่ยวแบบ Culdutainment ณ เชียงคาน...ปั่นจักรยาน ชมบ้านไม้เก่า คละเคล้าธรรมชาติ ตักบาตรข้าวเหนียว เที่ยววัดสำคัญ อาหารพื้นถิ่น หอมกลิ่นมะพร้าวแก้ว เพริศแพร้วลีลา ท่ารำเบิ่งโขง ผสมโรงดนตรี ละเล่นผีขนน้ำ ทำผ้านวมฝ้าย เครื่องใช้จักสาน การนวดยองเส้น เน้นศิลปะกระดาษ ผาสาดลอยเคราะห์ เลาะแก่งคุดคู้ ดูวิถีไทดำ สุขล้ำโฮมเสตย์

เที่ยวเชียงคานแนวใหม่ ใส่การเรียนรู้คู่ความสนุกสนาน สืบสานศิลปวัฒนธรรม Culdutainment...ด้วยพลังแห่งชุมชน บนพื้นฐานของการศึกษา วิจัย เที่ยวเชียงคานแนวใหม่ ใส่การเรียนรู้คู่ความสนุกสนาน สืบสานศิลปวัฒนธรรม Culdutainment...ด้วยพลังแห่งชุมชน บนพื้นฐานของการศึกษา วิจัย เที่ยวเชียงคานแนวใหม่ ใส่การเรียนรู้คู่ความสนุกสนาน สืบสานศิลปวัฒนธรรม Culdutainment...ด้วยพลังแห่งชุมชน บนพื้นฐานของการศึกษา วิจัย