ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า "พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นกฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งจาก ๑๘๗ ฉบับ ที่รัฐบาลในยุคนี้ ให้ความสำคัญและผลักดันจนมีผลใช้บังคับ เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ของกฎหมายที่มีต่อสังคม ภายหลังจากที่มีความพยายามในการผลักดันเพื่อให้เกิดกฎหมายฉบับนี้มาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นผลสำเร็จของความพยายามร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับภาคีเครือข่ายที่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะมีสื่อดีให้เลือกบริโภคมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะได้รับโอกาส เงินทุนสนับสนุน และเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปในทิศทางที่ดี"
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า "วัตถุประสงค์ของการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เกิดจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระยะเริ่มต้น ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งต่อการดำเนินงานให้มา ภายหลังจากที่สำนักงานกองทุนฯ มีบุคลากรเพียงพอที่จะขับเคลื่อนงานได้เอง ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมได้อย่างครบถ้วน จึงได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กองทุนฯ ได้ทราบถึงทิศทางในอนาคตและความคาดหวังที่สังคมต้องการจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้เตรียมการจัดสรรเงินทุนประมาณ ๑๐๒ ล้านบาท สำหรับสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และได้เตรียมการเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งจัดเวทีระดมความคิดเห็นในปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ โดยอาจแบ่งประเด็นการพิจารณาใน ๕ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ๒) การพัฒนาสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ๓) การรู้เท่าทันสื่อ ๔) การผลิตและสร้างนวัตกรรมด้านสื่อ ๕) การเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์"
นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายเพื่อให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
อันประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในทุกภูมิภาคของประเทศ มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ และเป็นแนวร่วมเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม เป็นสื่อที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง และยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างระบบและความเข้มแข็งขององค์กรให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit