นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในปีงบประมาณ 2559 เพื่อเพิ่มพื้นที่ปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลิตผล ผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรอินทรีย์ ให้สินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเป้าหมาย แบ่งเป็น ยโสธร Model มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 20,000 ไร่ และเป้าหมายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั่วไป เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่ง สศก. ได้ลงพื้นที่ 18 จังหวัด ติดตามผล พบว่า
ยโสธร Model สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างในจังหวัดยโสธร จำนวน 64 ราย ได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับจังหวัดยโสธร เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ 62 ราย ตามเป้าหมาย อบรมเกษตรกร 1,200 ราย (ร้อยละ 80 ของเป้าหมาย 1,505 ราย) เกษตรกรร้อยละ 83 มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เห็นว่าเกษตรอินทรีย์ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพิ่มคุณภาพผลผลิต ราคาผลผลิตสูงขึ้น ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี/สารเคมี โดยเกษตรกรร้อยละ 93 นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติ ได้แก่ การผลิตข้าว/พืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ย/สารอินทรีย์ชีวภาพ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด เป็นต้น
ด้านการขยายพื้นที่ กลุ่มเดิมต้นแบบ 10 กลุ่ม สามารถขยายพื้นที่ผลิตข้าวอินทรีย์โดยรับสมาชิกรายใหม่ 450 ราย พื้นที่ 4,500 ไร่ โดยได้เริ่มเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ในฤดูกาลผลิตนี้แล้ว และกลุ่มใหม่ มีพื้นที่เข้าร่วมตามแผน 20,000 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 56 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ร้อยละ 32 ระดับปานกลาง เนื่องจากการส่งเสริมแปรรูป ยังค่อนข้างน้อย อีกทั้งเกษตรกรเห็นว่า ภาครัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์และโทษของการใช้สารเคมี รวมทั้งผู้บริโภคยังสับสนระหว่างโครงการเกษตรอินทรีย์ กับการผลิตแบบ GAP เป็นต้น
เกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั่วไป สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างใน 17 จังหวัด จำนวน 411 ราย มีการดำเนินการอบรมสัมมนาความรู้ให้เจ้าหน้าที่ 829 ราย หรือร้อยละ 101 ของเป้าหมาย 820 ราย อบรม สัมมนาความรู้ ให้เกษตรกร/องค์กรเกษตรกร ได้ 5,607 ราย หรือร้อยละ 67 ของเป้าหมาย 8,385 ราย ดำเนินการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ โดยจัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 2 ครั้ง 227 ราย ตามเป้าหมาย
เกษตรกรร้อยละ 87 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 97 ได้นำความรู้การผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมงอินทรีย์ที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติ นอกจากนี้ พบว่า พื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนละ 6.52 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) พื้นที่ GAP เพิ่มขึ้นเป็น 2.07 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) พื้นที่เกษตรทั่วไปลดลงเหลือ 6.27 ไร่ (ลดลงร้อยละ 22)
ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 63 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ร้อยละ 31 ระดับปานกลาง เนื่องจากเห็นว่าการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตอินทรีย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดยังน้อย บางพื้นที่ราคาในระยะปรับเปลี่ยนเท่ากับราคาเกษตรทั่วไป ขาดการประชาสัมพันธ์ และตลาดยังไม่กว้าง ดังนั้น ควรเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ กำหนดแนวทางการขยายตลาดให้ชัดเจน โดยดึงผลสำเร็จในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องของจังหวัดยโสธร มาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอื่น อีกทั้ง รัฐบาลควรช่วยเหลือหรือมีมาตรการจูงใจให้ความมั่นใจกับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนการผลิต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit