กพร. ชูนโยบายเหมืองแร่สีเขียวพร้อมเปิด 6 ข้อกำหนดการทำเหมืองแร่ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างภาคอุตสาหกรรมสังคม และสิ่งแวดล้อม

16 Sep 2016
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยนโยบาย "เหมืองแร่สีเขียว" หรือGreen Mining ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานเหมืองแร่ทั่วไทยให้ตระหนักถึงการประกอบการเหมืองแร่ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว มีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ได้รับรับรองมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) แล้วจำนวน 138 รายจากจำนวนเหมืองแร่ทั่วประเทศ 585 เหมือง โดยในปี 2559 นี้ได้ดำเนินการตรวจประเมินสถานประกอบการเพิ่มอีกจำนวน 34 ราย คาดว่าจะสามารถตรวจประเมินได้แล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2559
กพร. ชูนโยบายเหมืองแร่สีเขียวพร้อมเปิด 6 ข้อกำหนดการทำเหมืองแร่ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างภาคอุตสาหกรรมสังคม และสิ่งแวดล้อม

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร. มีนโยบาย เหมืองแร่สีเขียว หรือ Green Mining ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบการเหมืองแร่ทุกประเภทให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการประกอบการที่นำทรัพยากรแร่มาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีกระบวนการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมภายใต้การตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว มีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ โดยนโยบายดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2552 ครอบคลุมสถานประกอบการเหมืองแร่ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ สถานประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ การประกอบการโลหกรรม โรงงานโม่ บด และย่อยหิน และโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์

นายชาติ กล่าวต่อว่า รายละเอียดของสถานประกอบการที่จะได้รับ รับรองมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

1. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพดีโดยเร็วเมื่อการทำเหมืองก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระดับที่รุนแรง และเกิดการร้องเรียน

2. มีการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน มีระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ

3. มีการดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยและสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ตามหลักวิชาการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงานเหมืองและประชาชนทั่วไป มีระบบตรวจสอบและควบคุมมลพิษไม่ให้แพร่กระจายออกสู่ภายนอกเหมืองแร่

4. มีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา ต้องทำการปลูกต้นไม้และปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม บริเวณที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วต้องทำการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการทำเหมือง เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์

5. การการดำเนินงานโปร่งใสตรวจสอบได้ ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองให้สาธารณชนรับทราบ และพร้อมรับการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก เช่น การติดป้ายแสดง ขอบเขตเหมือง และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

6. มีการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า ต้องนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ตลอดจนต้องมีวิธีนำของเสียจากขบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยส่งเสริมให้มีการจัดทำ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) แล้วจำนวน 138 ราย จากจำนวนเหมืองแร่ทั้งหมด 585 เหมืองทั่วประเทศ โดยในปี 2559 กพร. ได้ดำเนินการตรวจประเมินสถานประกอบการเพิ่มอีกจำนวน 34 ราย คาดว่าจะสามารถตรวจประเมินได้แล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2559 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตแร่คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 63,404.8 ล้านบาท จากการผลิตแร่ 49 ชนิด ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า เซรามิก แก้ว กระจก และเกษตร เป็นต้น นายชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2202-3555หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(