กรุงเทพมหานครร่วมสนับสนุนการจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้โรงพยาบาลสิรินธรและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่สำหรับฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาแพทย์ในอนาคต
นายแพทย์พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรุงเทพมหานครและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังว่า "กทม. ยินดีที่ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ ในการส่งเสริมการพัฒนาบริการทางการแพทย์ของประเทศ ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้กทม.จะเปิดให้นักศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้ามาฝึกปฏิบัติด้านคลินิกที่โรงพยาบาลสิรินธรและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ สจล. ยังจะสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสิรินธรและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ยกระดับการให้บริการขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลหลักที่ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชนในกรุงเทพมหานครโซนตะวันออก และรองรับการกักกันโรคระบาดที่มากับผู้เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลอีกด้วย"
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เกิดจากความตั้งใจของสภาสถาบัน สจล. ที่มุ่งมั่นจะผลิตแพทย์แห่งอนาคตให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสาธารณสุขของโลกและสังคมของไทย แพทย์ที่จบจากวิทยาลัยแห่งนี้นอกจากจะต้องมีความรู้เชิงวิชาการด้านการรักษาผู้ป่วยโรคเฉพาะทางต่างๆแล้ว ยังจะมีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยสามารถทำงานร่วมกับวิศวกร หรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้ได้จริง ช่วยยกระดับการรักษาพยาบาล และดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น"
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจะเปิดสอนหลัก สูตรภาษาอังกฤษ โดยเริ่มรับสมัครนักศึกษาในระบบรับตรงเข้าเรียนในหลักสูตรแพทยศาสตร์ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป ในระยะแรกจะเปิดรับนักศึกษา 40 – 50 คน โดยจัดการเรียนการสอนระดับพรีคลินิกภายใน สจล. โดยมีคณาจารย์ซึ่งเป็นแพทย์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มีประสบการณ์ ในโรงพยาบาลหรือวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำมาแล้ว นักศึกษาขึ้นชั้นปีที่ 4 จะเข้าศึกษาและฝึกภาคคลินิกในโรงพยาบาลสิรินธร ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสจล. ต่อไป
"วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจะเน้นการผลิตแพทย์ เป็นนักสร้างนวัตกรรมซึ่งสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และความเป็นจริงในประเทศไทย ช่วยให้ประเทศลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าสูงมาก รวมทั้งจะต้องเป็นแพทย์ที่มีความเป็นนานาชาติ คือ สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เข้าใจบริบทวัฒนธรรมต่างประเทศ และมีความสามารถในด้านการวิจัยทางการแพทย์" ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร รักษาการคณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า "การพัฒนาแพทย์แห่งอนาคตเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโลกจะต้องการเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อต่อสู้กับโรคที่ซับซ้อนขึ้น ช่วยให้เราดูแลผู้ป่วยในอนาคตได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น บทบาทของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการบ่มเพาะแพทย์ที่มีความสามารถด้านการวิจัย จึงมีความสำคัญ โดยจะต้องเน้นทั้งความรู้ ความเป็นเลิศด้านทักษะ และกระบวนการวิจัย มีความเข้าใจในบริบทของการเป็นแพทย์ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ สามารถปรับตัวเข้ากับต่างวัฒนธรรม เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมโลกได้อย่างมีคุณภาพ"
นางสาวสุภาพร กรลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร กล่าวว่า "โรงพยาบาลสิรินธร มีเป้าหมายที่จะเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาดใหญ่ที่ดูแลประชาชนในภาคตะวันออก โดยมีแผนที่จะพัฒนาศักยภาพของเราจากการเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงในปัจจุบัน ขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ รองรับผู้ป่วยได้ 700 เตียง สามารถให้บริการผู้ป่วยทางภาคตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ โรงพยาบาลสิรินธรและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร จึงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาของแพทย์ที่ศึกษาในหลักสูตรภาษาอังกฤษรวมทั้งเป็นศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดจากการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพอีกด้วย"
สจล. จะสร้างโครงข่ายความร่วมมือนำความรู้ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ความเชี่ยวชาญของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ มาสนับสนุนการสอนและการวิจัยในหลักสูตรวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและเตรียมกิจกรรมทางการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแพทย์ได้สัมผัสกับการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่เป็นนานาชาติ เช่น การดูงานหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ เป็นต้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit