ผลการวิจัยของเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรยุค มิลเลนเนียล (หรือ เจ็นเอ็ม) แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ที่เป็นผู้บริโภคอายุระหว่าง 18 – 34 ปี จะมีส่วนผลักดันให้มูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตพลังงานสูงขึ้นได้มาก
เอคเซนเชอร์จัดทำแบบสำรวจกลุ่มผู้บริโภคพลังงานประจำปีครั้งที่ 7 จากผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 10,000 ราย ใน 17 ประเทศ และออกรายงานเรื่อง "ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในธุรกิจพลังงาน ซึ่งขยายตัวตามระบบนิเวศพลังงาน" (The New Energy Consumer: Thriving in the Energy Ecosystem) พบว่า เจ็นเอ็ม เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค ภายใต้สถานการณ์ที่คู่แข่งมีความซับซ้อน ที่ประชันกันด้วยสินค้า บริการ และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงาน
คนเจ็นเอ็มต้องการที่จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้สินค้าและบริการด้านพลังงานใหม่ ๆ โดยร้อยละ 24 ของคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เปิดรับและชอบทดลองใช้ก่อน (Early adopters) เทียบกับร้อยละ 17 และร้อยละ 7 ในกลุ่มคนอายุ 35 – 54 ปี และกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป ตามลำดับ นอกจากนี้ ร้อยละ 22 ของคนเจ็นเอ็มยังต้องการทดลองเทคโนโลยีใหม่ในสัดส่วนที่สูงกว่าคนรุ่นอื่น (ร้อยละ 15 ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 35 – 54 ปี และร้อยละ 6 ในกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)
ลักษณะของคนเจ็นเอ็มนั้น มีการเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ ๆ และพร้อมพิจารณาสินค้าและบริการที่รองรับการเชื่อมต่อกับระบบพลังงานทางเลือกที่หาได้ทั่วไป (Distributed Energy Resources: DER) หลังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้น ๆ คนเจ็นเอ็มให้การตอบรับถึงร้อยละ 87 เทียบกับเพียงร้อยละ 60 ในกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เกือบร้อยละ 80 ของคนเจ็นเอ็มบอกว่า พวกเขาจะพอใจมากขึ้นถ้ามีระบบผู้ช่วยดิจิทัลในบ้าน และบริการติดตามเพื่อแนะนำสินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้ตรงตามความต้องการ เทียบกับร้อยละ 62 ในกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไปที่มีความต้องการแบบนี้
สำหรับการบริหารพลังงานในที่อยู่อาศัยนั้น ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ร้อยละ 61 ของคนเจ็นเอ็มมีแนวโน้มที่จะใช้แอพพลิเคชั่นมาช่วยติดตามและควบคุมระบบทางไกล เทียบกับกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไปที่มีแนวโน้มลักษณะนี้เพียงร้อยละ 36 ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเจ็นเอ็มร้อยละ 56 ยังมีแนวโน้มจะใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ถึงสองเท่า
ชาวมิลเลนเนียลหรือเจ็นเอ็ม เป็นคนรุ่นที่มีความต้องการบริการด้านพลังงานมากขึ้น
คนยุคเจ็นเอ็มมองพลังงานอย่างลึกซึ้งและมีส่วนร่วมกับผู้ให้บริการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ต่างจากมุมมองแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง เห็นได้ชัดว่าพวกเขาต้องการสินค้าและบริการใหม่ ๆ มารองรับในส่วนนี้ พวกเขาต้องการข้อมูล และยังต้องการให้ทุกอย่างตอบสนองฉับไวและเข้าถึงได้ง่าย
ความคาดหวังของคนเจ็นเอ็มต่อช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ ก็มีมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ส่วนบุคคลมากกว่าคนรุ่นก่อนในทุกช่องทางดิจิทัล และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุดทำให้คนเจ็นเอ็มสื่อสารกับผู้ให้บริการด้านพลังงานได้โดยสะดวก นอกจากนี้ ร้อยละ 83 ของคนเจ็นเอ็มจะไม่ค่อยอยากเปิดรับสินค้าและบริการอื่นเพิ่มเติม หากผู้ให้บริการไม่สามารถมอบประสบการณ์ต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อได้
"ผู้ให้บริการด้านพลังงานต้องจับความต้องการของคนเจ็นเอ็มและข้อมูลอินไซต์ต่าง ๆ ให้ได้ เพื่อพัฒนามูลค่าให้เต็มศักยภาพ เพราะความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สภาพและปัจจัยในตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว" ภากร สุริยาภิวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว "ผู้ให้บริการด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ยึดหลักการคิดอย่างมีดีไซน์ (design thinking) เป็นสำคัญ และมองลูกค้ากับกระบวนการค้าปลีกในฐานะสินทรัพย์ที่มีผลเชิงยุทธศาสตร์
การมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้บริโภคทรงอิทธิพล ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การสำรวจแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจพลังงานมีโอกาสอย่างมากที่จะสื่อสารและมีส่วนร่วมกับคนเจ็นเอ็ม เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม
ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 41 ของกลุ่มเจ็นเอ็ม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้บริการด้านพลังงานมากขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ และจะพึงพอใจหากสามารถเข้าถึงระบบของผู้ให้บริการได้จากข้อมูลที่ให้ไว้ในช่องทางเหล่านั้น
แบบสำรวจยังพบว่าคนเจ็นเอ็มให้ความสนใจกับคุณค่าที่นำเสนอมากกว่าคนรุ่นอื่น โดยร้อยละ 77 ของคนกลุ่มนี้ สนใจตลาดออนไลน์ที่ตรงกับความต้องการส่วนบุคคล ที่สามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงาน นอกจากนี้ กว่าหนึ่งในสามของคนเจ็นเอ็มยังสนใจในในโซลูชั่นบ้านอัจฉริยะ และยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อระบบเหล่านั้น
"การวางกลยุทธ์เกี่ยวกับลูกค้าต้องมองภาพรวมของแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดผู้บริโภคในทุกวันนี้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ แนวโน้มที่บ่งชี้ถึงผู้บริโภคในวันข้างหน้า" ภากร กล่าว "หากต้องการประสบความสำเร็จ ผู้ให้บริการด้านพลังงานต้องปรับตัวเร็ว จัดโครงสร้างใหม่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ เพื่อให้ไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจ ขยายตัวได้ทัน และสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และปฏิบัติการที่รองรับงานได้หลากหลาย"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit