โครงการปิ๊งส์ โดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน จัดโครงการประกวดสื่อภาพยนตร์สั้นชิงเงินรางวัล, ทุนเพื่อผลิตผลงานจริง ชี้ผู้ผ่านเข้ารอบจะมีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการกับผู้กำกับมืออาชีพ ก่อนทำหนังสั้นภายใต้ประเด็น สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้, สุรา เป็นเหตุให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้, สุรา เป็นเหตุให้พิการและตายได้, สุรา ทำร้ายตนเอง ครอบครัวและสังคมได้ หวังให้สื่อหนังสั้นเข้าถึง และนำเสนอ ทำความเข้าใจถึงอันตรายและโทษที่เกิดเพราะการดื่ม ก่อนนำไปใช้รณรงค์สร้างความรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มนักดื่ม
โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการบริหารกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการรณรงค์เรื่องการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมาแม้จะมีสถิติลดลง แต่บริษัทผู้ผลิตเหล้าก็ยังคงหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาเพิ่มเติมซึ่งเด็กและเยาวชนก็คือกลุ่มเป้าหมายใหม่ของธุรกิจนี้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า ประชากรโลกที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป มีการดื่มแอลกอฮอล์ เฉลี่ยปีละ 6.2 ลิตร เช่นเดียวกันการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชาชน พ.ศ. 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปตกเป็นนักดื่มในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อแยกกลุ่มอายุที่มีความชุกในการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุด คือวัยผู้ใหญ่ อายุ 25–59 ปี โดยดื่มใน 12 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 38.2 รองลงมาคือกลุ่มเยาวชนผู้ที่มีอายุ 15–24 ปีดื่มร้อยละ 25.2 สำหรับวัยสูงอายุ กลุ่ม 60 ปีขึ้นไปดื่มร้อยละ 18.4 สำหรับความบ่อยครั้งของการดื่ม พบว่าร้อยละ 57.6 เป็นผู้ที่ดื่มนานๆ ครั้ง ร้อยละ 42.4 เป็นผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอ เมื่อดูถึงความถี่หรือความบ่อยครั้งในการดื่มของกลุ่มผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอ พบว่าเป็นผู้ที่ดื่ม 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปถึงร้อยละ 38.3 โดยในกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ดื่มทุกวันสูงถึงร้อยละ26.2 โดยผู้ชายมีอัตราการดื่มสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า จากพฤติกรรมการดื่มเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ผู้ดื่มเสี่ยงอุบัติเหตุ ขาดสติ ทะเลาะวิวาท และยิ่งดื่มมากก็ยิ่งเพิ่มอัตราการเกิดโรคร้ายจากการดื่มมากกว่า 200 โรค อาทิ มะเร็ง, พิษสุราเรื้อรัง, ตับแข็ง, ปลายปราสาทเสื่อม, สมองเสื่อม, โรคหัวใจ, ไขมันในเลือดสูง,ไขมันสะสมในตับ, ตับอักเสบ ฯลฯ
"สาเหตุสำคัญที่เริ่มดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สาเหตุหลักๆ มี 3 สาเหตุ คือ เพื่อเข้าสังคม/การสังสรรค์ ร้อยละ 41.87 ตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม ร้อยละ27.3 และอยากทดลองดื่ม ร้อยละ 24.4 โดยกลุ่มอายุ 15–24 ปี จะเริ่มดื่มตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม คิดเป็นร้อยละ 34.49 กลุ่มอายุ 25–59 ปี เริ่มดื่มเพื่อเข้าสังคม/การสังสรรค์ คิดเป็นร้อยละ 44.38 และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เริ่มดื่มเพื่อเข้าสังคม/การสังสรรค์ คิดเป็นร้อยละ 38.70 เพื่อให้ปัญหาทั้งหมดลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการรณรงค์แก่ประชาชนตลอดทั้งปีอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสื่อที่ สสส. นำมาสื่อสารนั้นยังไม่ได้มุ่งเป้าไปที่เยาวชน ซึ่งเยาวชนกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่บริษัทธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบนเข็มไปนอกเหนือจากกลุ่มผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องเร่งสื่อสารและรณรงค์ในเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลักนี้มากขึ้น การใช้สื่อภาพยนตร์สั้นที่ทำโดยกลุ่มเป้าหมายเองจึงน่าจะเป็นสื่อที่น่าจะใช้สื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเด็กได้เร็วและได้ง่ายที่สุด โครงการนี้จึงเป็นกลยุทธิ์ที่น่าสนใจอีกโครงการหนึ่งของเรา" รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก กล่าว
ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล สำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อเกิดปัญหาทั้งภายในและภายนอกครัวเรือน ทั้งปัญหาทางการเงินส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่าปัญหาอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 5.69 รองลงมาคือการเคยมีปากเสียงทะเลาะโต้แย้งกันในครัวเรือน และก่อให้เกิดความรำคาญ รบกวนการทำงานและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 5.55 และ 4.29 ตามลำดับ แต่สิ่งที่สังคมจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไม่ว่าจะในครัวเรือนหรือนอกครัวเรือนคือ การลงมือทำร้ายร่างกายหรือกระทำความรุนแรง ร้อยละ 0.87 และ 1.21 ตามลำดับ
"การประกวดทำภาพยนตร์สั้น "รู้เท่าทันการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ที่แบ่งไอเดียและแนวความคิด ภายใต้ประเด็น สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้, สุรา เป็นเหตุให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้, สุรา เป็นเหตุให้พิการและตายได้, สุรา ทำร้ายตนเอง ครอบครัวและสังคมได้ จึงเกิดขึ้นเพราะปัจจุบันเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลเสียครอบคลุมไปทุกมิติ การสื่อสารหรือทำหนังสั้นเพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้จึงควรมีข้อระวัง คือ การใช้ภาพขวดหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจเป็นการสื่อสารมุมกลับทำให้เกิดการกระตุ้น ตอกย้ำ ระลึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาจตกเป็นข้ออ้างของกลุ่มธุรกิจในการใช้ภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ต่อได้" นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล กล่าว
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การใช้สื่อรณรงค์ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมาเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการสกัดกั้นนักดื่มหน้าใหม่การทำสื่อที่เจาะจงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ประเด็นแอลกอฮอล์ การสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ การรู้เท่าทันกลยุทธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดและสกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่น เราต้องนำข้อมูลยากๆ เหล่านั้นมาสื่อสารในรูปแบบใหม่ นั่นคือ สื่อภาพยนตร์สั้น ซึ่งน่าจะตอบโจทย์เรื่องการรณรงค์ได้ดีกว่าสื่อแบบเดิมๆ ที่สำคัญโครงการนี้ยังได้ผู้กำกับแถวหน้าที่มีชื่อเสียงอยู่ในวงการภาพยนตร์จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยมาร่วมงานมากมาย อาทิ นนทรีย์ นิมิบุตร, ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์,นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ, พัฒนะ จิระวงศ์, ชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา และอนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนอกจากจะได้รับความรู้ การรู้เท่าทันสื่อ สามารถคิด แยกแยะ วิเคราะห์ จนนำมาซึ่งความเข้าใจผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเยาวชนเหล่านี้ยังได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิคในการทำภาพยนตร์สั้นเพื่อสื่อสารโดยตรงจากผู้กำกับมืออาชีพแบบตัวต่อตัว ที่สำคัญนอกจากจะมีภาพยนตร์สั้นฝีมือเยาวชนออกมาแล้ว ผู้กำกับมืออาชีพทั้งหมดจะผลิตภาพยนตร์สั้นตามแนวและวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา 6 คน 6 เรื่อง ด้วย
สำหรับการรับสมัครนั้น นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพฯ (สสส.) กล่าวว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้แยาวชนนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา หรือเทียบเท่า เข้าร่วมโครงการ โดยส่ง Script ไอเดีย และแนวความคิดเกี่ยวกับประเด็นที่เปิดรับพร้อมใบสมัครส่งมาได้ที่[email protected] ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ในขณะเดียวกันช่วงเปิดรับสมัครนี้เพื่อสร้างความรู้และเข้าใจในประเด็นให้ชัดเจนขึ้น ทางโครงการจะเดินสาย Roadshow นำผู้กำกับและนักวิชาการไปให้ความรู้แก่เยาวชนถึงสถานศึกษา มหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10 สถานที่ แต่จะเป็นที่ไหน และวันเวลาใดบ้าง สามารถติดตามและดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.PINGs.in.th หรือ www.artculture4health.com
"ไอเดียที่ส่งเข้ามาจากทั่วประเทศนั้นในรอบแรกจะคัดเลือกเหลือเพียงผลงานจาก 20 ทีม เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เรียนรู้ประเด็นเพิ่มเติมจากนักวิชาการและผู้ที่ทำงานรณรงค์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมเรียนรู้กระบวนการทำงานกับผู้กำกับมืออาชีพจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก่อนให้นำเสนอผลงานอีกครั้งเพื่อคัดเหลือ 10 ทีม 10 ผลงาน รับทุนผลิตผลงานจริง จากนั้นสุดยอดผลงานที่นำเสนอได้ตรงโจทย์จะถูกคัดเลือกเพื่อชิงเงินรางวัลจากการประกวดรวมนับ 100,000 บาท ก่อนนำไปฉายในโรงภาพยนตร์คู่กับผลงานของผู้กำกับมืออาชีพทั่วประเทศ สำหรับภาพของการรณรงค์ต่อไปนั้นเราจะนำผลงานทั้งหมดนี้มาเป็นตัวตั้งต้นและนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญๆ เช่น ภาพคำเตือนของบรรจุภัณฑ์ ที่จะปรากฏบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลต่อไป" นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit