อ.อภิวัฒน์ โควินทรานนท์ ผู้ชำนาญการท่องเที่ยวประจำกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ได้เล่าถึงเรื่องราวริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ท่าน้ำคลองสานมุ่งหน้าสู่วัดอรุณฯ โดยอธิบายในส่วนของฝั่งธนบุรีก่อนว่า "แม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ท่าเรือคลองสานที่เราเริ่มออกเดินทางมานั้น เป็นคลองที่มีชื่อเสียงเพราะเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หรือที่สมัยก่อนเรียกว่า โรงพยาบาลบ้า นั่นเอง ถัดมาคือ โบราณสถานที่สำคัญมาก สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คือ ป้อมป้องปัจจามิตร กับ ป้อมปิดปัจจนึก สองป้อมคู่กัน ป้อมหนึ่งอยู่คลองสาน ป้อมหนึ่งอยู่สี่พระยา เป็นสถานที่ตั้งเสาธงสัญญาณแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าออกพระนคร ถัดมานั้นจะเห็นเจดีย์จีนตั้งอยู่ เป็น สมาคมการกุศลจีจิงเกาะ เป็นสมาคมการกุศล รวมทุกศาสนามารวมกัน มีสาขาทั่วโลก เพื่อเผยแผ่ความดีงามต่างๆ ใกล้กันกับสมาคมเป็นบ้านของนักเขียนชื่อดัง ก.สุรางคณางค์ ที่แต่งบ้านทรายทองเคยอยู่บ้านหลังนี้ และที่อยู่ติดกันถัดนั้นไปเป็นคฤหาสน์หวั่งหลี เป็นคฤหาสน์จีนของตระกูลเจ้าสัวเก่าแก่ตระกูลหนึ่ง มีธุรกิจค้าขายผลผลิตการเกษตร สมัยก่อนท่าเรือนี้เรียกกันว่า ท่าเรือกลไฟ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ถัดไปมีสิ่งที่เคารพคู่คนจีน นั่นก็คือ ศาลเจ้าแม่ทับทิม แบบดั้งเดิม 100 % อายุกว่า 100 ปี เหตุที่มีศาลเจ้าแม่ทับทิมก็เพราะเจ้าแม่ทับทิมเป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองการเดินเรือนั่นเอง"
เมื่อถึงสะพานพุทธ อ.อภิวัฒน์ ได้เล่าว่า "สะพานพุทธเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกที่เชื่อมระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร เป็นสะพานประจำรัชกาลที่ 7 สร้างในสมัยกรุงเทพครบรอบ 150 ปี สีของสะพานมาจากสีวันพระราชสมภพ ในอดีตสะพานพุทธสามารถเปิดและปิดได้ด้วยกำลังไฟฟ้า เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ผ่านเข้าออกได้ กระทั่งปี 2529 ได้มีการซ่อมแซมสะพานพุทธ จากนั้นก็ไม่สามารถเปิดปิดได้ดังแต่ก่อน" ซึ่งการล่องเรือในทริปครั้งนี้ ผู้ร่วมทริปยังได้ชมวิดีโอของสะพานพุทธในอดีตที่หาชมได้ยาก โดยสามารถดูได้จากซัมซุง เกียร์ วีอาร์ ที่เปิดประสบการณ์การชมภาพวิดีโอในอดีตของสะพานพุทธ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบ 360 องศา ซึ่งในแอพพลิเคชันคัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ 2.0 มีวิดีโอในอดีตของสะพานพุทธให้ชมเช่นเดียวกัน
จากนั้นเดินทางล่องเรือต่อไปยัง คลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่ มีโบราณสถานที่เก่าที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ สร้างตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ตอนปลาย อายุกว่า 300 ปี คนที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างคือสมเด็จเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ จึงมีอีกชื่อว่า ป้อมวิชเยนทร์ พระเจ้ากรุงธนบุรีล่องเรือผ่านเห็นว่าทำเลตรงนี้ดีมากจึงมาสร้างวัง คือ พระราชวังเดิม หรือกองทัพเรือในปัจจุบันจนได้ขึ้นบกเพื่อไปทำกิจกรรมเซลฟี่กันที่วัดอรุณราชวรรามฯ ซึ่งเป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพระเจ้ากรุงธนบุรีแล่นเรือผ่านมาถึงตอนสว่างพอดี จึงเรียกชื่อ วัดแจ้ง และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 2 วัดอรุณได้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 เปลี่ยนเป็น วัดอรุณราชธาราม และเมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ถือว่าเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและด้านวิศวกรรม บริเวณวัดมีตุ๊กตาจีนประดับอยู่ทั่ว หลายวัดในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นล้วนตกแต่งด้วยตุ๊กตาจีนเช่นกัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการค้าขายในยุคสมัยนั้นนั่นเอง
โบสถ์ของวัดอรุณนั้นมีทรงเหมือนกับวัดพระแก้วแต่มีขนาดเล็กกว่า เสาของโบสถ์นำเบญจรงค์มาประดับลาย บริเวณรอบประตูมีช้างประจำประตูอยู่แทนที่จะเป็นสัตว์ชนิดอื่น เพราะรัชกาลที่ 2 ได้ช้างเผือกถึง 7 เชือก จึงได้รับสมญานามว่าพระเจ้าช้างเผือก และอีกหนึ่งความพิเศษของวัดอรุณก็คือ โดยปกติแล้วโบสถ์จะมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แต่ที่วัดอรุณมีรูปปั้นสิงโต 144 ตัวอยู่รอบโบสถ์แทนกำแพงแก้ว ถือได้ว่าเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่ใช้รูปปั้นแทน
จากนั้นเดินทางกลับ โดยในส่วนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านพระนครนั้นก็ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ท่าเตียน เป็นท่าขนส่งสินค้าในตลาด ที่สินค้าหลายประเภทจะถูกส่งผ่านตลาดนี้ไปยังท่าเรือ และยังเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากมีวังเจ้านาย บ้านขุนนาง ตลอดจนบ้านเรือนราษฎร และยังเป็นท่าเรือข้ามฟากแห่งแรกที่ใช้เรือไฟแทน เรือจ้าง ซึ่งที่บริเวณท่าเตียนนี้ ผู้ร่วมทริปยังได้ลองฟังก์ชันถ่ายวิดีโอย้อนเวลา ที่ผู้ใช้จะได้ย้อนเวลาเข้าไปอยู่ในอดีตแบบภาพเคลื่อนไหว จากนั้นเรือได้แล่นผ่าน วัดโพธิ์ วังจักรพงศ์ โรงเรียนราชินี อาคารไปรษณียากรแห่งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่าราชวงศ์ วัดปทุมคงคา ซึ่งในสมัยก่อนวัดนี้จะเป็นวัดที่เอาพระอัฐิมาลอย หรือถ้าช้างล้มก็เอามาถ่วงที่ท่าน้ำนี้ โดยเปรียบว่าเป็นเหมือนแม่น้ำคงคา ถัดมาเป็นอาคารธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่แห่งแรก และโบสถ์กาลหว่าร์ ที่เก่าแก่และสวยงาม ก่อนเข้าเทียบท่าที่คลองสาน
ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัด โบสถ์ หรือมัสยิดที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนแม้ว่าจะมีภาษาหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็ตาม และแม้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตของคนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ประวัติศาสตร์และความน่าสนใจของแม่น้ำสายนี้ยังคงเต็มเปี่ยมรอให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปสัมผัส โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ 2.0 ฟรีได้ที่ Google Play Store และ Galaxy Apps โดยพิมพ์คำว่า "Culture Explorer Thailand" ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit