สถาบันสิ่งทอฯ ดันอัตลักษณ์ “ข้าวต้มใบกระพ้อ” สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จ.ชายแดนใต้

03 Aug 2016
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดึงอัตลักษณ์วิถีภาคใต้จาก "ข้าวต้มใบกระพ้อ" สร้างสรรผลงานการออกแบบ พร้อมต่อยอดพัฒนาเส้นใยดาหลาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ หวังยกระดับคุณภาพผลักดันสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สถาบันสิ่งทอฯ ดันอัตลักษณ์ “ข้าวต้มใบกระพ้อ” สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จ.ชายแดนใต้

ณ โรงแรมราชมังคลา สงขลา เมอร์เมด อ.เมือง จ.สงขลา สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระยะที่ 4) โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกันสำหรับกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ในปี 2559 นี้ ทางสถาบันฯมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีทางด้านสิ่งทอเพื่อสร้างสมบัติพิเศษให้ผลิตภัณฑ์ และการนำวัสดุจากธรรมชาติมาผสมผสาน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในรูปแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเคหะสิ่งทอ และเพิ่มคุณค่าใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ด้วยการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม คือ ขนมต้มใบกะพ้อ นำไปสู่แรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายผ้าทอ รวมถึงการออกแบบเคหะสิ่งทอ โดยนำเสนออัตลักษณ์ของวิถีภาคใต้ ใช้แนวโน้มการออกแบบ TREND FASHION WGSN 2017 มาประกอบในการออกแบบเพื่อให้เกิดความทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ โดยการออกแบบลายผ้าทอเกี่ยวโยงและมีความสัมพันธ์กับขนมต้มใบกะพ้อ ในด้านลวดลายและสีผ้า และนำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์ 3 Collection ดังนี้

RAKs BAAN (ผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ชุดนั่งเล่น 2 จังหวัด สงขลา นราธิวาส)

เส้นใยตาลโตนด และ ดาหลา ผสมฝ้าย ปั่นเส้นด้าย ย้อมสีธรรมชาติ และทอเป็นผืนผ้า แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ประยุกต์เทคโนโลยีนาโนเคลือบผ้าเพิ่มสมบัติทำให้ผ้าสะท้อนน้ำ เพื่อป้องกันการเปื้อนและทำความสะอาดได้ง่าย โดยในส่วนของ ผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ จังหวัดสงขลา ใช้เส้นใยตาลโตนดผสมฝ้าย ย้อมสีธรรมชาติจากสีเหลืองจากเปลือกหัวหอมใหญ่ ลวดลายผ้าดัดแปลงจากลวดลายจากลายราชวัตร ให้มีลักษณะเป็นลวดลายเส้นยาวเหมือนเส้นสีเขียวของใบกระพ้อ และใช้เทคโนโลยีนาโนเคลือบผ้าเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทำให้ผ้าสะท้อนน้ำและปรับผ้านุ่ม ส่วนผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอจังหวัดนราธิวาส ใช้เส้นใยดาหลาผสมฝ้าย โดยมีลวดลายผ้าเลียบแบบลายเส้นใบกระพ้อ ผ่านเทคนิคการทำลวดลายผ้าด้วยวิธีบาติก ลักษณะเป็นลายเส้น ผลิตภัณฑ์มีรูปทรงสามเหลี่ยมเหมือนรูปทรงขนมต้ม และใช้เทคโนโลยีนาโนเคลือบผ้าเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทำให้ผ้าสะท้อนน้ำ เพื่อป้องกันการเปื้อนและทำความสะอาดได้ง่าย

TOM LOOK YONE

การออกแบบ Tropical Teal ความอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูร้อนของป่าลึกเขตร้อน เน้นสีโทนเย็น สีของพืช สีเขียวเข้มของมอสส์ และสีเหลือง เน้นลวดลายกราฟิกจากพืชพรรณธรรมชาติและลายเรขาคณิต พัฒนาการออกแบบแฟชั่นในคอลเล็คชั่น TOM LOOK YONE ด้วยเส้นใย FILAGEN® ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนในเส้นใย ใช้เทคนิคการเขียนลายบาติก 2 ชั้น บาติกบล็อคไม้ บาติกชั้นเดียว และบาติกบล็อคไม้ 2 ชั้น ทำให้เกิดลวดลายที่สวยงาม เป็นเครื่องแต่งกายภาคใต้ สามารถ mix & match สลับสับเปลี่ยนใส่กันได้ทั้งชุดคอลเล็คชั่น

NATUAL of KA-POR

ออกแบบลวดลายของผ้าบาติก เป็นลวดลายของลักษณะใบกะพ้อและการนำใบกะพ้อไปห่อหุ้มข้าวเหนียวจนกลายเป็นขนมต้มใบกะพ้อซึ่งถือที่เป็นอาหารที่คนในภูมิภาครู้จักและผูกพันธ์ทั้งด้านความเชื่อและประเพณีซึ่งพบเห็นได้ทุกเทศกาลของคนในภาคใต้ทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม โดยออกแบบลายขนมต้ม ลายใบกะพ้อ ลายใบกะพ้อคลี่ ลายใบกะพ้อแฉก ด้วยเทคนิคพิมพ์ลายจากบล็อกไม้ และใช้เทคนิคแฮนด์เพ้นผสมกับการเขียนเทียนบาติก บนผ้าไหมไทย และตัดเย็บออกมาเป็นชุดมุสลิม

นอกจากนี้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังยกระดับการพัฒนาผ้าทอเส้นใยดาหลา โดยความร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระยะที่ 4) กิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อยอดงานวิจัยของคุณ ดาริกา ดาวจันอัด นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่ได้ทดลองนำลำต้นดาหลามาผ่านกระบวนการสกัดเพื่อนำเส้นใยมาใช้ประโยชน์ แต่เนื่องจากเส้นใยจากลำต้นมีความกระด้างมากจึงทำให้ผ้าที่ได้มีผิวสัมผัสทีไม่ดีจากปลายเส้นใยที่โผล่ขึ้นมาในเนื้อผ้า ทางสถาบันจึงทดลองพัฒนาผ้าทอจากเส้นใยดาหลาโดยใช้ใบเป็นวัตถุดิบแทนการใช้ลำต้น โดยนำใบมาแช่ในสารสกัดเส้นใย ประมาณ 6 วัน และขยี้ใบ นำไปผึ่งแดด จากนั้นจึงนำไปเข้าสูกระบวนการผลิตเส้นด้ายโดยผสมกับเส้นใยฝ้าย และปั่นเส้นด้ายในระบบวงแหวน (Ring Spinning) แล้วนำเส้นด้ายทอเป็นผ้าผืน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอผสมผสานกับการนำเรื่องราวของขนมต้นใบกะพ้อมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายผ้าทอ โดยผลงานการออกแบบครั้งนี้นักออกแบบต้องการนำเสนอผ่านรูปแบบชุดโต๊ะเก้าอี้นั้งเล่นพร้อมทั้งการนำแนวโน้มการออกแบบ TREND FASHION WGSN 2017 มาประกอบ ซึ่งผลิตภัณฑ์มีรูปทรงสามเหลี่ยมเหมือนรูปทรงขนมต้ม และยังใช้เทคโนโลยีนาโนเคลือบผ้าเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทำให้ผ้าสะท้อนน้ำได้อีกด้วย

ทางสถาบันฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมก้าวสู่ตลาด AEC และตลาดสากลต่อไปสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.org , www.thaitextile.org/muslim

HTML::image( HTML::image( HTML::image(