นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยด้านนวัตกรรม อันจะสร้างข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการและประเทศไทย เทคโนโลยีนิวเคลียร์ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับสากล และผลงานการวิจัยก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การพัฒนาวงการแพทย์ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการส่งออก นอกจากนี้ยังมีส่วนในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์สามารถพัฒนาต่อยอดได้ตลอดเวลา หากมีการวิจัยและนำไปพัฒนาต่อยอดในสาขาต่างๆ อย่างถูกต้องตรงจุด
"การพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในระดับประเทศต้องอาศัยการศึกษา การวางนโยบาย ทั้งในด้านการวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กันไป โดยการส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณ ส่งเสริมด้านบุคลากร นักวิจัย นักพัฒนาให้เกิดผลงานที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายวิจัยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ให้ความรู้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งในโอกาสการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ประจำปี 2559 หรือ International Nuclear Science and Technology Conference (INST 2016) เป็นเวทีสำคัญของประเทศที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย รวมถึงกลุ่มผู้นำที่มีความรู้ความสามารถทั่วโลก และพร้อมนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในระดับนานาชาติ"
นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ กล่าวอีกว่า การพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนวงการแพทย์อย่างกว้างขว้าง ดังนั้น ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และโอกาสในการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อให้ได้ผลงานในการนำมาพัฒนาต่อยอดทั้งในด้าน การเกษตร การแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งหากในอนาคตมีการเดินหน้าพัฒนา และนำเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์เข้ามาใช้ในวงกว้าง คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าทัดเทียมในระดับนานาประเทศ และยังสร้างเม็ดเงินรายได้จากการเพิ่มมูลค่าสินค้า การส่งออก ความปลอดภัยที่ทั่วโลกให้การยอมรับคาดว่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในแต่ละปีอีกด้วย
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ หรือ International Nuclear Science and Technology Conference (INST 2016) ถือเป็นงานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ครั้งสำคัญ ซึ่งจะจัดขึ้นเพียง 2 ปีครั้ง และในปีนี้เน้นผลงานวิจัยด้าน Health and Environment มุ่งผลักดันให้เกิดการเผยแพร่ แลกเปลี่ยน ผลงานวิจัย ความรู้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในระดับนานาชาติ โดยงาน INST แบ่งการนำเสนอเป็น 2รูปแบบ คือ Oral Presentation และ Poster Presentation มีนักวิจัยส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น133 ผลงาน แบ่งเป็น Oral Presentation จำนวน 39 ผลงาน และ Poster Presentation 94ผลงาน จากนักวิจัย นักพัฒนา นักวิชาการกว่า 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เมียนมาร์ แอฟริกาใต้ สวีเดน เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 500 คน
ดร.พรเทพ กล่าวอีกว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และระดับภูมิภาคมาร่วมบรรยาย ได้แก่ Mr. Yukiya Amano Director General จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ International Atomic Energy Agencyหรือ IAEA ร่วมบรรยายหัวข้อ บทบาท IAEA ต่อประเทศกำลังพัฒนาในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อใช้ในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีวิทยากรชั้นนำจากนานาประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะเรียนรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี แนวโน้มและการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
"นอกจากการจัดประชุมฯ แล้ว ยังมีการแสดงผลงานนิทรรศการนิวเคลียร์กับผลงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การโชว์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ประกวดหุ่นยนต์ปฎิบัติการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ผลงานวิจัยโดยนักวิจัยวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น หรือ Young Nuclear Scientist Award รวมถึงการนำเสนอโครงการหรือผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษา นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับความสามารถของนักวิชาการ และเยาวชนรุ่นใหม่ให้เกิดการตื่นตัว และแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศไทย เกิดการกระตุ้นให้เกิดการศึกษา วิจัยให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต อันเป็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไทยให้ทัดเทียมระดับโลกต่อไป" ดร.พรเทพ กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit