มูลนิธิเอสซีจี มอบทุนการศึกษาแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า ผู้ปกป้องผืนป่าแทนคนไทยทั้งชาติ

04 Aug 2016
เมื่อครั้งที่สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่ เป็นข้าราชการคนหนึ่ง เขาให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานอย่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เพราะสืบรู้ดีว่า คนที่ปฏิบัติงานจริงๆ ในการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า คือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเหล่านี้นั่นเอง (ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
มูลนิธิเอสซีจี มอบทุนการศึกษาแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า ผู้ปกป้องผืนป่าแทนคนไทยทั้งชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยมีผืนป่าอนุรักษ์กว่า 73 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 20,000 คน หากดูจากตัวเลขเพียงผิวเผินอาจดูมาก แต่นั่นหมายถึงพื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของผู้พิทักษ์ป่าเพียง 1 คน

"เสียงปืนไม่เคยหยุดดัง" หนึ่งในคำบอกเล่าของ เฉลิมวุฒิ ศรียภูมิ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ซึ่งเริ่มอาชีพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ห้วยขาแข้งตั้งแต่ปี 2550 จากการเป็นลูกจ้างรายวัน ด้วยความรักป่าและสัตว์ป่า เขาจึงเลือกปักหลักใช้ชีวิตในผืนป่าห้วยขาแข้งเรื่อยมา จากลูกจ้างรายวันเลื่อนขั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตามหน่วยสกัดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ แต่ด้วยความชอบและอยากร่วมออกเดินลาดตระเวนเหมือนเจ้าหน้าที่คนอื่น จึงขอเปลี่ยนสายการทำงานไปเป็นเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนแทน

เมื่อได้ทำงานที่รัก ได้ใกล้ชิดสัตว์ป่า และได้เดินลาดตระเวนตามที่ตั้งใจ แต่ใครจะคาดคิดว่าฝันร้ายของเฉลิมวุฒิจะมาถึงเมื่อ 9 สิงหาคม 2558 ขณะกำลังออกเดินเท้าลาดตระเวนบริเวณป่ากันชนช่วงเวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง เท้าซ้ายของเขาก้าวพลาดไปเหยียบสายโยงของ 'ปืนผูก' ที่วางไว้ดักสัตว์ แรงอัดของปืนทำให้ลูกกระสุนวิ่งตรงเข้าใส่ใต้หัวเข่าด้านซ้าย บาดแผลฉกรรจ์ในครั้งนั้นทำให้เขาต้องยุติบทบาทการเดินลาดตระเวนลงอย่างสิ้นเชิง "ผมได้ยินเสียง ปัง! รู้ตัวอีกทีก็ล้มไปแล้ว เห็นเลือดออกเต็ม ขาซ้ายไม่มีแรง กระดูกแตกหมดเลย เพื่อนๆ ช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น เอาไม้มาดาม เอาผ้าพัน เชือกมัดแล้วประคองออกจากป่าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ตอนนั้นรู้สึกกลัวว่าผมคงต้องโดนตัดขาแน่ พอไปถึงโรงพยาบาลลานสัก ตรวจพบว่าลูกปืนฝัง 1 ลูก และทะลุ 1 ลูก จึงปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วส่งไปผ่าตัดที่ รพ.ประจำจังหวัด รักษาตัวครั้งแรก 18 วัน ดามเหล็ก พอกลับบ้านเป็นแผลติดเชื้อ ใช้เวลาพักฟื้นรักษาตัวอีกหลายเดือนก็ยังไม่หาย หมอเลยให้ผ่าเอาเหล็กออกครั้งที่สอง แล้วนอนโรงพยาบาลอีก 18วัน เมื่ออกมาแล้วก็ต้องเริ่มฝึกก้าวเดินใหม่ วนเวียนเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ"

ปัจจุบันเฉลิมวุฒิปฏิบัติหน้าที่ในวิทยุป้อมยาม ดูแลความปลอดภัยหน่วยพิทักษ์ทุ่งแฝก แม้ในวันนี้บทบาทหน้าที่จะเปลี่ยนไป แต่เฉลิมวุฒิก็ยังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลห้วยขาแข้ง "สำหรับผม ตำแหน่งไหนก็ดีทั้งนั้น ขอแค่ได้มีส่วนร่วม งานไหนก็ได้ที่เกี่ยวกับห้วยขาแข้ง ผมยินดีทำทุกงาน ผมผูกพันและอยู่กับป่านี้มานาน จนนึกไม่ออกว่าทำไมถึงรักที่นี่ ที่บ้านบางทีก็ห่วง อยากให้เลิก แต่ผมคิดว่าคนเราอยู่ที่ไหนก็ตาย ถ้าตายก็ต้องตายอย่างมีศักดิ์ศรี ทุกคนก็กลัวตายนะ แต่เรามาทางนี้แล้ว ผมก็คงจะทำต่อไปจนอายุ 60 ปี การลักลอบตัดไม้เกิดขึ้นทุกเดือน มีรถไถเข้ามาในป่า มีรถขนสัตว์ป่าออกไปขาย ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ เพิ่มขึ้น ไม่มีลด ทุกวันนี้รอบหน่วยก็ยังมีเสียงปืนอยู่เรื่อยๆ หน่วยที่ผมอยู่เป็นหน่วยติดกับแนวกันชนหัวไร่ปลายนา ง่ายแก่การบุกรุก ผมอยากดูแลป่า สัตว์ป่า ไม่ชอบเห็นการบุกรุก ไม่ชอบการลักลอบเอาสัตว์ป่าไปกิน ไปขาย เพียงเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเอาเปรียบคนอีกหลายล้านคนในประเทศนี้"

ภารกิจพิทักษ์ผืนป่าถือเป็นภารกิจที่หนักและเสี่ยงอันตรายสวนทางกับค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับ มูลนิธิเอสซีจี จึงขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับเหล่าผู้พิทักษ์ป่าด้วยการมอบทุนการศึกษาให้แก่ลูกๆ ของพวกเขา ภายใต้โครงการ "SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี" ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับทุนฯ ในปีนี้ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ด้านตะวันตก) จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จ.นครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า "มูลนิธิฯ ตระหนักถึงความเสียสละทั้งกายใจของผู้พิทักษ์ป่า เพื่อปกป้องดูแลผืนป่าและสัตว์ป่าให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพื่อส่งเสริมผู้พิทักษ์ป่าให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ และเพื่อแบ่งเบาภาระและเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้พิทักษ์ป่าและครอบครัว มูลนิธิฯ จึงมีความยินดีและปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งที่มีส่วนสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับลูกๆ ของผู้เสียสละ จนถึงจบปริญญาตรี โดยไม่มีภาระผูกพัน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 มูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุนการศึกษานี้จะมีส่วนทำให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จในอนาคต และขอขอบคุณที่ปกป้องผืนป่าแทนพวกเรา"

"อยากขอบคุณพ่อที่พ่อเป็นพ่อที่ดีของพวกเรา การที่หนูได้รับทุนจากมูลนิธิเอสซีจี ก็ไม่ใช่เพราะตัวหนู แต่เพราะพ่อหนูเป็นคนดี เสียสละ หนูภูมิใจในตัวพ่อมากๆ ค่ะ เมื่อก่อนที่พ่อยังอยู่หน่วยลาดตระเวน เวลาพ่อออกไปทำงาน เราทุกคนก็เป็นห่วงพ่อ กลัวว่าจะได้รับอันตราย ตอนพ่อเกิดอุบัติเหตุหนูก็ได้เห็น ตกใจมาก พวกเราร้องไห้กันหมดเลย คือพอเราเห็นพ่อเจ็บ เราก็ไม่อยากให้พ่อทำ แต่พ่อบอกว่ารักงานที่นี่เพราะจะได้รักษาป่า ตอนนี้หนูเรียนอยู่ ม. 3 แล้วค่ะ โรงเรียนห้วยขาแข้งวิทยาคม ได้รับทุนจากมูลนิธิฯ นี้เป็นปีที่ 2 แล้ว หนูจะตั้งใจเรียน เพราะโตขึ้นหนูอยากเป็นครู อยากมีรายได้เลี้ยงดูพ่อแม่ค่ะ" สุภาพร ศรียภูมิ ลูกสาวของพี่เฉลิมวุฒิ บอกเล่าถึงความในใจที่มีต่อพ่อและความรู้สึกที่ได้รับทุนฯ ในครั้งนี้

ยืนยง โยงกระโทง อีก 1 ผู้พิทักษ์ป่า ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็น หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 8ตลิ่งชัน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เริ่มต้นการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นที่แรกเมื่อปี 2535 เพราะได้พบเจอกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนหนึ่งซึ่งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเล็กๆ ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือมีตำแหน่งใหญ่โต แต่เขาปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ทำให้ยืนยงรู้สึกว่านั่นคือแบบอย่างในการทำงานของเขา ต่อมาในปี 2542 เขาได้ขอย้ายมาประจำที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพราะจะได้อยู่ใกล้ครอบครัว โดยเริ่มจากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวเงินเดือนไม่กี่พันบาท แต่ยืนยงก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง โดยมีภารกิจหลักคือการออกลาดตระเวนเพื่อตรวจตราผู้ที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งอุทยานแห่งชาติทับลานก็ถือเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบตัดไม้พะยูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะที่นี่เป็นแหล่งไม้พะยูงเพียงไม่กี่แหล่งในเมืองไทยและประเทศไทยก็เป็นแหล่งไม้พะยูงแหล่งสุดท้ายของโลก จากวันนั้นถึงวันนี้ เส้นทางสายผู้พิทักษ์ป่ายาวนานมากว่า 17 ปีแล้ว ปัจจุบันเขาเป็นผู้นำชุดลาดตระเวนและจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาวุธของผู้ลักลอบมีความทันสมัยและร้ายแรงกว่าของเจ้าหน้าที่ หลายครั้งเป็นอาวุธสงคราม

"ตอนเริ่มทำงาน ผมมีต้นแบบเป็นผู้พิทักษ์ป่า ชอบการทำงานของเค้า พอออกจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มา พอดีภรรยาเป็นคนนครราชสีมา ผมก็เลยมาสมัครต่อที่ทับลาน คือผมรู้ตัวเองดีว่ามีป่าที่ไหน ผมก็จะต้องไปสมัครงานที่นั่น ผมรู้สึกผูกพันกับป่ามาก ผมรักธรรมชาติ ผมคิดว่าจะอยู่ที่ทับลานเรื่อยไปนั่นล่ะครับ เสี่ยงก็ต้องเสี่ยง ผมมีทั้งครอบครัว มีทั้งป่า จะทำไปจนเดินไม่ไหวนั่นล่ะครับ ภาระหน้าที่ รายได้ ความเสี่ยง ถามว่าคุ้มมั้ย มันไม่คุ้มหรอก แต่ว่าทำไงได้ ผมรักป่า ผมก็ต้องแบกปืนแบกเป้น่าจะเหมาะสมกับผมมากกว่าทำอย่างอื่นครับ"

เมื่อพูดถึงครอบครัว ซึ่งยังมีอีก 7 ชีวิตที่ยืนยงต้องดูแล ชายผู้ดูเข้มแข็ง ดุดัน เอาจริงเอาจัง ก็มีน้ำเสียงอ่อนโยนขึ้นทันที "ลูกๆ ของผมเขาจะไม่ค่อยพูดตรงๆ ว่าห่วงผม แต่ผมก็รับรู้ได้ แต่ผมว่าผมห่วงพวกเขามากกว่า การที่ลูกสาวคนโต น้องเชิงตะวัน ได้รับทุนฯ จากมูลนิธิฯ ก็ช่วยให้ลูกมีความหวังมีกำลังใจมากขึ้นอีกเยอะเลย ลูกสาวคนโตอยากเป็นหมอ คนกลางอยากเป็นผู้พิทักษ์ป่าเหมือนพ่อ (หัวเราะ) ส่วนคนเล็กอยากเป็นทหาร เป็นตำรวจ ลูกๆ ผมเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนอยู่แล้ว พอได้ทุนก็ยิ่งมีกำลังใจขึ้นไปอีก"

"พ่อคือฮีโร่ของหนู เวลาที่รู้ว่าพ่อจับคนลักลอบตัดไม้ได้ หนูก็ดีใจ ภูมิใจ แม้ว่าหลายๆ ครั้งหนูจะเป็นห่วงพ่อมากที่พ่อต้องเข้าป่า เพราะได้ยินข่าวทางทีวีบ่อยๆ เรื่องการลักลอบตัดไม้พะยูง เราก็จะคิดในใจเสมอ ทุกครั้งว่าต้องไม่ใช่พ่อเรา ทุกครั้งที่มีสัญญาณโทรศัพท์ พ่อก็จะโทรหาพวกเราทุกครั้งเพื่อบอกว่าพ่อยังสบายดี เราจะได้ไม่ต้องห่วง เวลาพ่อกลับมาบ้าน พวกเราก็จะหอมแก้มพ่อและบอกคิดถึงพ่อค่ะ" น้องเชิงตะวัน โยงกระโทก กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนโนนสมบูรณ์วิทยา ลูกสาวของพี่ยืนยงกล่าว

เมื่อ 1 ชีวิตต้องปฏิบัติภารกิจที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดของผืนป่า และยังมีอีกหลายชีวิตข้างหลังที่ต้องดูแล มูลนิธิเอสซีจีขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่มอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ผู้ที่โอบอุ้มดูแลผืนป่าแทนพวกเราคนไทยทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่เดียวดาย ดังที่ เฉลิมวุฒิ ศรียภูมิ ผู้พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวทิ้งท้ายไว้กับเราว่า"อยากบอกคนข้างนอกป่า ว่าอย่าลืมคนในป่า ขอแค่เป็นกำลังใจให้คนในป่าได้มีแรงทำงาน ให้ได้รู้ว่าคนในเมืองยังเป็นห่วงคนในป่าก็พอ"

HTML::image( HTML::image(