ทั้งนี้ผลสำรวจเมื่อสอบถามการเปิดตัวโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่าแกนนำชุมชนกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 75.8 ระบุทราบข่าวดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 24.2 ระบุไม่ทราบ
นอกจากนี้แกนนำชุมชนได้แสดงความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์ของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทในปี2558 โดยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83.2 ระบุคิดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 16.8 ระบุคิดว่ายังไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลพอสรุปได้ว่า อายุขั้นต่ำควรมากกว่า 18 ปี/บางคนมีรายได้เกินกำหนดแต่มีภาระในค่าใช้จ่ายมากควรดูองค์ประกอบอื่นด้วย นอกจากนี้บางส่วนยังระบุว่ามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวอาจทำให้คนจำนวนมากไม่กระตือรือร้นในการทำงานเพราะจะรอความช่วยเหลือจากรัฐ เป็นต้น
และเมื่อสอบถามถึงการมีสิทธิของตนเอง/ครอบครัวเพื่อลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 59.7 ระบุมีสิทธิ ในขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุไม่มีสิทธิ ทั้งนี้ในกลุ่มที่มีสิทธิลงทะเบียนกว่าร้อยละ 90 (ร้อยละ 93.8) ระบุมีความสนใจเข้าร่วมในโครงการนี้ ในขณะที่ร้อยละ 6.2 ระบุไม่สนใจ (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 4)
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจเมื่อสอบถามข้อมูลของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องการทราบเพิ่มเติมพบว่า ร้อยละ 83.2 ระบุต้องการทราบรายละเอียดความช่วยเหลือที่จะได้รับ รองลงมาคือร้อยละ 77.3 ระบุต้องการทราบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียน ร้อยละ 76.5 ระบุระยะเวลาการลงทะเบียน ร้อยละ 76.1 ระบุวิธีการและเอกสารที่ต้องใช้ลงทะเบียน และร้อยละ 71.1 ระบุสถานที่หรือจุดรับลงทะเบียน ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นกรณี"โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ" จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้จริงหรือไม่นั้น พบว่าตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 78.1 ระบุเชื่อมั่นว่าจะช่วยได้จริง ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่าเพราะหลักเกณฑ์และรายละเอียดยังไม่เพียงพอ/เคยมีโครงการลักษณะแบบนี้มาแล้วแต่ความเป็นอยู่ของประชาชนก็เหมือนเดิม/ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะทำสำเร็จ/ไม่มั่นใจในกระบวนการคัดกรองว่าเป็นคนจนหรือไม่จน นอกจากนี้บางส่วนยังระบุว่าอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับประเทศเพราะถ้าประชาชนได้รับความช่วยเหลือบ่อยๆก็จะทำให้เกิดความเคยตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนมากกว่าร้อยละ 90 (ร้อยละ 95.2)ระบุมีความพึงพอใจต่อรัฐบาลที่ได้จัดตั้งโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ นี้ขึ้นมา ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น ที่ระบุไม่พอใจ
ทั้งนี้ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารองค์กร ยังระบุเพิ่มเติมว่า หลังการพูดคุยกับประชาชน ถึงกรณีที่เป็นกังวลว่า โครงการลงทะเบียนคนจน อาจเป็นดาบสองคม กล่าวคือ เป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับสิทธิในการดูแลขั้นพื้นฐาน แต่อาจทำให้ประชาชนอีกกลุ่มไม่คิดกระตือรือร้นในการทำงาน และเกิดความเคยตัว เพราะคิดว่ามีรัฐบาลคอยช่วยเหลือบ่อยๆ รวมถึงกังวลว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณายังมีรายละเอียดไม่เพียงพอ เพราะเกรงว่าอาจจะมีการสวมสิทธิ์หรือช่องโหว่ของกลุ่มหาผลประโยชน์ ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการ พร้อมทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิ์ด้วยหากกระบวนการคัดกรองล่าช้าหรือซับซ้อน ทั้งนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ที่แท้จริงของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 5.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 27.1 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 67.5 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น ไป ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 34.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 14.8สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 72.4 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.8 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 11.8 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 13.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 15.7 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.9 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 46.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.9 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 13.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.8 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit