เสียงกลองยาวแว่วมาแต่ไกล ชาวบ้านบ้านหนองการ้อง หมู่ที่ 11 ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ประหลาดใจเห็นลูกหลานตนเองเดินนำขบวนตีกลองยาว รำฟ้อนกันอย่างสวยงามในประเพณีบุญในวันเข้าพรรษา ถึงแม้จะรู้ว่าทางอบต.พลับพลาไชยและผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน จะดึงลูกหลานของตนเข้าโครงงานปลูกป่าจิตอาสามาตั้งแต่มิถุนายน ปี 2558 แต่ไม่ค่อยรู้ว่าลูกของตนมีความสามารถอะไรบ้าง
คมสัน พันธุ์เสือ หรือ เอ็ม เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่อาสาเข้ามาเป็นผู้ช่วยอรุณรัตน์ ป้อมทอง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ดูแลโครงงานปลูกป่าจิตอาสา เล่าที่มาของเสียงกลองยาวซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงงานปลูกป่าจิตอาสา ที่ได้ 7 เยาวชนแกนนำ มาเป็นกำลังหลักได้แก่ 1. นายณัฐกานต์ ผิวอ่อนดี (โป๊ะ) อายุ 16 ปี โรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย 2. นายกฤษณะ โรจน์บุญถึง (เจมส์) อายุ 15 ปี โรงเรียนอู่ทอง 3. เด็กชายสดายุ โรจน์บุญถึง (เอส) อายุ 14 ปี โรงเรียนอู่ทอง 4. นายศักดา ปัชชา (จ๊อบ) อายุ 15 ปี โรงเรียนอู่ทอง 5. เด็กหญิงชลธิชา ปทุมสูตร (ลูกน้ำ) อายุ 12 ปี โรงเรียนดอนคาวิทยา6. เด็กหญิงบุษราภรณ์ สาลี (ฝ้าย) อายุ 11 ปี โรงเรียนสระกร่างเจริญธรรม และ7. เด็กชายธีรยุทธ สีโปดก (ฟลุ๊ก) อายุ 12 ปี โรงเรียนสระกร่างเจริญธรรม ทั้งหมดพร้อมด้วยเพื่อนในชุมชน ตั้งแต่ระดับประถม-มัยธม รวมประมาณ 25 คน ได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะให้เป็น "เด็กดี" แบบไม่รู้ตัว ตลอดระยะเวลา 1 ปี อบต.พลับพลาไชย ร่วมมือกับชุมชนจัดกิจกรรมที่ดึงความสนใจเด็ก ได้แก่การไปปลูกป่า ดูแลป่าเสื่อมโทรม,กิจกรรมปั่นจักรยาน ,ผูกผ้า ,เวียนเทียนในวันพระและรำและตีกลองยาว ทุกกิจกรรมสอดแทรกการสอน การวางตัว การพูดจา การมีสัมมาคารวะ ผลที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนชัดเจน
"เราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ทุกมิติ ที่ผมเน้นให้เด็กๆ ทำกิจกรรมของชุมชน ผมเห็นว่าการเสริมแต่งอะไรที่มันห่างตัว คือเด็กบางคน เรียนรู้จากข้างนอกได้ รู้จักที่อื่น แต่ไม่รู้จักตัวเอง ผมก็เลยว่าถ้าเราทำในสิ่งที่เรามีอยู่ มันจะยั่งยืน ผมถือเรื่องความยั่งยืน คำว่ายั่งยืน ใครๆ ก็พูดยั่งยืนๆ ถ้ายั่งยืนของผมคือเด็กซึมเรื่องนี้ลงไปในตัวเองว่าเฮ้ยนี่มันบ้านฉันๆ ฉันมี 1 2 3 4 5 ฉันจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น อยู่ที่ความคิดนะ แค่นี้เอง มีป่าทำอย่างไรให้ป่ามันดีขึ้น มีวัฒนธรรมทำไมวัฒนธรรมต้องดีขึ้น มีอาชีพ ทำอย่างไรให้มันดีขึ้น แต่เด็กมันไม่คิดถึงอาชีพหรอกครับ ผมว่าเด็กตอนนี้คือว่าให้เราให้รู้จักคุณธรรม ให้รู้จักความดี ให้รู้จักอะไรพอก่อน ไม่ต้องให้ไปถึงขนาด โอ้โห ขนาดนั้นหรอก คือเราให้เรียนรู้อย่างนี้ และที่สำคัญคือให้เด็กมีความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับชุมชน ว่าชุมชนตัวเองเป็นอย่างไร พอมีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน แล้วเด็กก็จะมีความผูกพันกับชุมชน เด็กจะรักหมู่บ้าน
เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่จะดูแลปัญหามากกว่า ซึ่งในพื้นที่ก็จะเห็นอยู่รอบๆ ข้างๆ ว่ามันมีปัญหาเหล่านี้อยุ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นมันก็จะเกิดจากเด็กวัยรุ่นส่วนหนึ่ง ถ้าเด็กเหล่านี้มีคุณธรรม มีความสำนึกผิด หรือมีศีลธรรมในหัวใจ สิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดขึ้น ชุมชนก็มีความสุข เราทำสิ่งเหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในตัวเด็กเหมือนให้เป็นภูมิคุ้มกันให้ตัวเด็ก อย่างน้อยต้องมีความยั้งคิดยั้งทำอยู่" เอ็ม" สะท้อนว่านอกจากเห็นเปลี่ยนไป อ่อนน้อม รับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้นแล้ว ชุมชนก็เปลี่ยนมาหันมาสนับสนุนงานเยาวชนมากขึ้น ซึ่งโครงงานนี้ได้ความร่วมมือทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่ใจดี ปราชญ์ชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง
ด้านแกนนำชุมชน ชลัม โรจน์บุญถึง สมาชิก อบต.พลับพลาไชย ที่เป็นต้นคิดกิจกรรมปลูกป่าเพราะเห็นความเสื่อมโทรมของป่าชุมชนที่ถูกบุกรุกโดยชาวบ้าน พื้นที่จำนวน 100 ไร่ ผ่านมา 1 ปี พื้นที่ 10 ไร่ได้รับการดูแลโดยมีเยาวชนร่วมคิด ร่วมทำ เช่น เข้าไปช่วยปลูกป่า รดน้ำต้นไม้ โดยคิดใช้ขวดพลาสติกให้น้ำหยด ปีนี้มีเป้าหมายทำให้ได้ 30 ไร่ และการสร้างฝาย ที่เด็กๆ ได้ทำเองถึง 15 ฝายด้วยกัน "ผมได้ให้ลูกชายผมคือเจมส์ กับ เอส มาเข้าร่วมโครงงานด้วย เพราะอยากให้เขาได้มีทักษะที่สามารถนำไปใช้กับชีวิตได้ เห็นลูกเปลี่ยนแปลงขึ้น คือ มีความอดทน แบ่งเวลาเป็น รู้หน้าที่ตนเอง ผมคุยกับเอ็มว่าถ้าเราจัดกิจกรรมแค่เรื่องป่าอย่างเดียว กิจกรรมก็จะมีน้อยไป เด็กๆ อาจจะไม่ได้เรียนรู้มาก จึงเพิ่มกิจกรรมให้เด็กมีทักษะดำรงชีวิต ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขารู้หน้าที่ตนเอง เราคาดหวังเขาให้เขาเป็นเด็กดีก่อน ยังไม่อยากให้เป็นเด็กเก่ง"
ทางด้านเยาวชน "เอส" สะท้อนว่า "ก่อนมาก็รู้ว่าชุมชนเรามีป่า แต่ไม่รู้ว่ามีคนนอกชุมชนมาแอบตัดต้นไม้ไปใช้ประโยชน์ด้วย พอรู้แบบนี้ก็ยิ่งอยากเข้ามาทำกิจกรรม เพราะอยากดูแลชุมชนของเราให้ดีขึ้น คนในชุมชนเดียวกันต้องมีความเสียสละและช่วยเหลือกัน" เช่นเดียวกับ "โป๊ะ" ที่พูดถึงเหตุผลที่เข้าร่วมว่า "เราเป็นพี่ถ้าไม่มา แล้วน้องตัวเล็กๆ มา ก็ดูเหมือนเราไม่มีความรับผิดชอบ พอทำกิจกรรมด้วยกันก็มีความผูกพันกัน ทุกครั้งที่เราทำงานเสร็จก็มาถอดบทเรียน (สรุปการเรียนรู้) กัน ซึ่งมีประโยชน์มาก เพราะเราได้รู้จุดดี จุดด้อยของตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง และก็ได้ความรู้จากการทำกิจกรรม เช่น การปลูกป่า การทำฝาย การผูกผ้า หรือการตีกลอง ซึ่งในชุมชนเราได้ใช้ ถือว่าได้ความรู้ติดตัวไปครับ"
โครงงานปลูกป่าจิตอาสา หมู่ที่ 11 อบต.พลับพลาไชย ถือว่าเป็น 1 ใน 5 โครงการที่นายกอบต. นายพีระศักดิ์ มาตรศรี หมายมั่นปั้นมือให้เป็นพื้นที่สร้างเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นเด็กดี โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปเข้าเรียนรู้ในหลักสูตรนักถักทอชุมชน รุ่น 2 ได้แก่ ณัฐณิชชญา แก้วปาน รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ดูแลโครงงานเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 7, เอกวิทย์ ชาวสวน หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ดูแลโครงงานการเล่นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล ,ชรินรัตน์ มณีวงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป ดูแลโครงงานปั่นสร้างสุขหมู่ที่ 6 ,วิรัชดา ศรีคำแหง นักวิชาการศึกษา ดูแลโครงงานการแสดงวิถีชีวิต "ชาติพันธุ์ ลาวเวียง" ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เมื่อได้ความรู้แล้วทั้งหมดจึงนำมาพัฒนาเด็ก เยาวชนบ้านตนเองโดยผ่านการทำ 5 โครงงานดังกล่าวนั่นเอง
นี่คือการจัดโครงงานที่สร้างความ "ยั่งยืน" ให้กับชุมชน คือการสร้างเยาวชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชน กิจกรรมเป็นเพียงแค่สิ่งล่อใจที่ทำให้เด็ก เยาวชน ได้มีโอกาสลิ้มรสความสนุก แต่ภายใต้ความสนุกเด็กได้เรียนรู้ทักษะชีวิตจริง ที่นำมาปรับใช้กับตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเด็กไม่รู้เรื่อง กลายเป็นเด็กคิดเป็น ทำเป็น ไม่สร้างภาระให้กับครอบครัว ชุมชนนั่นเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit