โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย ได้หารือกับ นายยูจิ อิซาวา (Izawa Yuji) ซีอีโอ ในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ และ Tokyo Metropolitan SME Support Center ผ่านโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ในรูปแบบการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านอาหาร การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของทั้งสองประเทศ
ดร.พิเชฐ ได้บรรยายแนะนำโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารแก่ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกรุงโตเกียว และจังหวัดใกล้เคียงกว่า 100 ราย เพื่อชักชวนผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น ขยายการลงทุนและตั้งห้องปฏิบัติการ หรือศูนย์วิจัยในเมืองนวัตกรรมอาหารเนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวโน้นเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง มีการคมนาคมที่เชื่อมต่อกันได้ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ และประเทศไทยจะเป็นประตูเชื่อม (gateway) ที่สำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียนในอนาคต อีกทั้งยังมีภาคการเกษตรที่มีความเข้มแข็ง มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย เป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่ ที่พร้อมจะสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านอาหารได้อย่างเต็มที่ และเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI) ด้านอาหารของประเทศไทย
"เมืองนวัตกรรมอาหารของไทย จึงเป็นศูนย์รวมของบุคลากรการวิจัยในหลากหลายสาขาที่มุ่งเน้นการทำ RDI ทางด้านอาหาร โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำวิจัย และให้บริการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุน และความสะดวกในการทำ RDI กับภาคเอกชน นอกจากนี้บริษัทที่เข้ามาทำการวิจัยในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารยังได้รับมาตรการการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น การลดหย่อนภาษีรายได้ การยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการทำ RDI อีกด้วย" ดร.พิเชฐ กล่าว
ภายหลังการบรรยาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมหารือและชักชวนนักลงทุน และบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง จำนวน 4 ราย ให้มาตั้งห้องปฏิบัติการในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารของประเทศไทย โดยรมว.วิทยาศาสตร์ ระบุว่า 1 ใน 4 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ตอบตกลงทุนจะมาร่วมลงนามความร่วมมือและเปิดตัวโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้