ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันกองทุนอนุรักษ์ฯ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ ที่มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและช่วยเหลือการดำเนินงานการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้มีการผลิตและใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงาน 3 คณะ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (2) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ (3) คณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้กองทุนฯ จากการดำเนินงานที่ผ่านมากองทุนฯ ได้สร้างและพัฒนาผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่การติดตาม กำกับ และดูแลงานโครงการ ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร ซึ่งหากมีการบูรณาการร่วมกันตั้งแต่การจัดทำข้อเสนอโครงการ การกลั่นกรองงบประมาณ การอนุมัติงบประมาณ การดำเนินโครงการ และการติดตามประเมินผลโครงการแล้ว จะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
เพื่อให้การบริหารงานกองทุนฯ ได้ขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มที่ กระทรวงพลังงาน จึงได้จัดให้มีหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติ เรื่อง การบริหารจัดการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแบบบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์ ให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแนะนำแนวทางการบริหารจัดการกองทุนที่ มุ่งผลสัมฤทธิ์ และร่วมกันจัดทำแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ตลอดทั้งกระบวนการจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยคาดหวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในงานที่ทำอยู่ให้สอดรับกับแผนบูรณาการพลังงานของชาติทั้ง 5 แผน ให้เดินหน้าไปอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
หลักสูตรฝึกอบรมฯ จะจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง โดยเน้นการวิเคราะห์ปัญหา และจัดทำแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการ แบบบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์ รวมถึงกระบวนการกลั่นกรอง การอนุมัติ การติดตาม และประเมินผลโครงการผ่าน Case Study จากนั้นเป็นการฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ความท้าทาย ปัญหา อุปสรรคการบริหารจัดการกองทุนฯ ในปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการ ให้มีประสิทธิภาพและมุ่งผลสัมฤทธิ์
หลังจากการอบรมเสร็จสิ้นจะมีการจัดทำแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมกันนี้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาดูแลบริหารจัดการ โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การกำหนดแนวทาง รายละเอียด หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการดำเนินงานของโครงการและการประเมินผลโครงการ ก่อให้การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) ตั้งเป้าหมายที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ในปี 2579 ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่โครงการจะอยู่ในแผนกองทุนอนุรักษ์ฯ อยู่แล้ว และได้มีการขับเคลื่อนการประหยัดพลังงานและสร้างผลงานเชิงประจักษ์ไว้มากมายในทุกภาคส่วน อาทิ
· ในส่วนของภาครัฐบาลได้ให้การสนับสนุนหลอดประหยัดพลังงาน LED แก่หน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาของรัฐ ติดตั้งทดแทนหลอดเดิม รวมถึงให้การสนับสนุนการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ
· ในส่วนภาคเอกชน ได้จัดทำโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน มีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ และเพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs อย่างโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม (Energy Points)
· ในส่วนของภาคประชาชนได้จัดแคมเปญรณรงค์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแคมเปญหลักในช่วงนี้ คือ"รวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์ ปี 2" ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการรวมถึงภาคประชาชน ในการ "เปลี่ยน"มาใช้และบอกต่อ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศ
"ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น คือ ความตั้งใจของการบริหารจัดกองทุนฯ รวมถึงการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ได้เสนอให้มีการบูรณาการ การประชาสัมพันธ์ไปสู่ทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความคุ้มค่าการนำเม็ดเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปสนับสนุนแต่ละโครงการ เพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศเกิดผลประหยัดและมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม