สพฉ.อบรมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้สื่อหลากหลายสำนัก เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือในการเจ็บป่วยฉุกเฉินของสื่อและประชาชนทั่วไปทุกกรณี

02 Aug 2016
ที่โรงแรมไมด้ารีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรให้กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในหลักสูตร "การรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในสถานการณ์ความขัดแย้ง" รุ่นที่ 9 โดยการอบรมในครั้งนี้นั้นสื่อมวลชนจะได้ร่วมเรียนรู้วิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์การทำข่าวที่มีความขัดแย้งในหลากหลายกรณีด้วย
สพฉ.อบรมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้สื่อหลากหลายสำนัก เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือในการเจ็บป่วยฉุกเฉินของสื่อและประชาชนทั่วไปทุกกรณี

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้เชิญเราเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดวิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินให้กับผู้สื่อข่าวจากหลากหลายสำนัก เพราะที่ผ่านมามีหลากหลายเหตุการณ์ในบ้านเมืองของเราที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การเกิดภัยพิบัติ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการเรียนรู้วิธีในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินและการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินก็จะทำให้สื่อมวลชนทำงานอย่างปลอดภัยได้ ซึ่งสื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จะได้เรียนรู้เรื่อง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยชีวิต การปฏิบัติตัวในการทำข่าวการจราจลอย่างปลอดภัย การปฏิบัติตัวและการทำหน้าที่สื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงอย่างปลอดภัยด้วย

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีในการปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นหากสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บในสถานการณ์ของการชุมนุม ซึ่งในการชุมนุมอาจมีกรณีการบาดเจ็บฉุกเฉินได้หลายกรณี อาทิ ถูกยิง แผลฉกรรจ์ที่มีเลือดไหลมาก การหกล้ม กระดูกหัก หรือโดนแก๊สน้ำตา ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็จะมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้หากผู้สื่อข่าวไปพบเห็นผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ หรือผู้ร่วมวิชาชีพที่บาดเจ็บก็สามารถที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ทำให้ผู้บาดเจ็บมีอาการบาดเจ็บรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยการเคลื่อนย้ายสามารถทำได้หลายกรณี อาทิ การมอบคลอนเข้าไปและล็อคแขนผู้บาดเจ็บจากนั้นค่อยๆ ดึงไถลออกมาจากพื้นที่ หรือหากผู้บาดเจ็บพอรู้สึกตัว ให้หมอบคร่อมลงไปที่ร่างพูดบาดเจ็บ จากนั้นให้ผู้บาดเจ็บคล้องที่คอ และค่อยคลานพาร่างผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณที่ปะทะ และสำหรับกรณีหากผู้บาดเจ็บกระดูกหัก ให้ใช้อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ในการดามแขน เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์นำมาม้วนหนาๆ และใช้ดามบริเวณอวัยวะที่คาดว่ากระดูกหัก จากนั้นใช้เชือกรองเท้าหรือวัสดุมัดดามไว้ ส่วนกรณีผู้บาดเจ็บมีเลือดไหลจำนวนมากให้รีบห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณบาดแผลให้แน่น ประมาณ 10-15 นาที จนเลือดหยุด จากนั้นรีบส่งโรงพยาบาล

"สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินพร้อมให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปในการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนให้ปลอดภัยอย่างเต็มที่ และเหนือสิ่งอื่นใดหากสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไปเจ็บป่วยฉุกเฉินให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669เพราะเรามีทั้งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ที่จะคอยดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วย" นพ.อนุชากล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(