ที่ห้องประชุมกมลทิพย์ 1 โรงแรมสุโกศล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดงานแถลงข่าวพิธีมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ AED จำนวน 20 เครื่อง โดย บริษัท แอลโคเทค จำกัด โดยมีพลเอกชูศิลป์ คุณาไทย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าร่วมเป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ"หยุดวิกฤตหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในแม่สูงวัยด้วยการเรียนรู้การปั้มหัวใจ และการใช้งานเครื่อง AED " โดยวิทยากรจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หน่วยงานภาคเอกชน และดารานักแสดงเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดสาธิตการช่วยฟื้นชีพ (CPR) และการใช้งานเครื่อง AED ด้วย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอัตราของประชาชนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีจำนวนมากพอๆ กับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทั้งนี้จากสถิติในแต่ละปีนั้นประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คนเท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และหากผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือโดยการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR)ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้บริษัทแอลโคเทค จำกัด จึงได้ทำการมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติAED จำนวน 20 เครื่องให้กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะนำเครื่อง AED ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ไปกระจายติดตั้งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร สนามบิน บนเครื่องบิน บนรถไฟ สนามแข่งขันวิ่งมาราธอน สนามกีฬาที่มีคนจำนวนมาก สนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หน่วยบริการของราชการ สถานที่สำคัญ รวมทั้งโรงงานที่มีคนงานจำนวนมาก และสถานที่ท่องเที่ยวที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้เครื่อง AED ได้ถูกใช้งานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยในเบื้องต้นเราได้นำเครื่อง AED ไปติดตั้งแล้วที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล สถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน สถานีขนส่งหมอชิต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินดอนเมือง สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เราจะนำไปติดตั้งเพิ่มเติมในสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ กรมบัญชีกลาง สวนสัตว์ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางศาสนา เรือหลวงจักรีนฤเบศร สนามกีฬาธูปะเตมีย์ สนามบินสุราษฏร์ธานี สถานีขนส่งสายใต้ และสถานีรถไฟอีกด้วย
ด้านนพ.ชายวุฒิ สรวิบูลย์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์วชิระพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจจึงทำให้ต้องประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยตนเองไม่รู้ตัว ซึ่งจากสถิติมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เสียชีวิตกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นอกโรงพยาบาล โดยเราสามารถช่วยผู้ป่วยได้ภายในระยะเวลา 4 นาทีเท่านั้น ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรที่จะเรียนรู้แนวทางในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน และหมั่นตรวจสอบสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและในโอกาสวันแม่ที่จะถึงนี้ จึงอยากแนะนำบุตรหลานควรที่จะประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะพาแม่ไปเที่ยวในสถานที่ไกลๆ เพราะหลายคนอาจคิดว่าท่านอาจแข็งแรงแต่จริงๆแล้วท่านอาจจะมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซ่อนอยู่ก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะพาแม่ไปเที่ยวควรพาไปตรวจร่างกายประจำปีก่อน รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ไกลๆ หรือมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ควรวางแผนการเดินทางให้ดีพักผ่อนให้เพียงพอ และเตรียมยาประจำตัวให้พร้อมด้วย
ด้าน น.ส. อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล หรือน้องกรีนนักร้องนักแสดง กล่าวว่า ในการแสดงมีหลายครั้งที่ต้องรับบทที่เกี่ยวข้องกับฉากปั้มหัวใจ ทั้ง จมน้ำ เป็นลม หรือหายใจไม่ออก ตอนนั้นที่แสดงก็ไม่ทราบว่าได้ทำถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ เพราะทำตามคำบอกเล่าของคนในกองถ่าย แต่จากนี้ไปเมื่อได้ชมการสาธิต และ ได้เรียนรู้การใช้เครื่องAED ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถทำได้อย่างถูกต้อง และ ยังสามารถช่วยผู้ป่วยได้จริงอีกด้วย
"เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ออกทีวีไปความถูกต้องมีไหม ไม่สามารถบอกได้ แต่เมื่อได้เรียนรู้และฝึกการCPR และใช้งานเครื่อง AEDแล้วก็ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น แม้ว่าเราไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ ก็สามารถที่จะกล้าช่วยเหลือคนอื่นได้เพราะเครื่อง AED ใช้งานง่าย บอกขั้นตอนในการทำงานที่ชัดเจน"
ด้านนายธนภาค จิระเดชดำรง ผู้บริหารจากบริษัท แอลโคเทค จำกัดซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย AED ยี่ห้อ defibtechจากสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ภายหลังจากที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมารณรงค์อย่างต่อเนื่องให้มีการติดตั้งเครื่อง AEDและประกาศให้เครื่อง AED กลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นซึ่งเมื่อเครื่อง AED กลายมาเป็นอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นประชาชนทุกคนจึงจะต้องเข้าถึงการใช้งานให้ได้อย่างง่ายที่สุด โดยเครื่อง AED ที่เราได้ทำการมอบให้กับสพฉ.ในครั้งนี้นั้นมีระบบการทำงานที่เข้าใจง่ายเพราะมีระบบสั่งการด้วยวีดีโอ ภาพ เสียง และข้อความบนหน้าจอ รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อนำไปติดตั้งในสถานที่ชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติที่อยู่ในบริเวณสถานที่เหล่านั้นก็สามารถใช้งานเครื่อง AED ได้ง่ายไม่เกิดความสับสน เพราะวีดีโอที่สาธิตการใช้งานเครื่องAED จะสอนผู้ใช้งานให้ใช้ได้อย่างถูกวิธี
ตัวแทนจาก บริษัท แอลโคเทค จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่หลายประเทศใช้แล้วสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลได้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเราจะใช้การปฐมพยาบาลด้วยการ CPR เพียงอย่างเดียว จึงทำให้ตัวเลขการรอดชีวิตของผู้ป่วยในประเทศไทยระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่รอดชีวิตเช่นกัน อย่างไรก็ตามในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้มีงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่าเมื่อนำเครื่อง AED มาใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินสลับกับการทำCPR ระหว่างรอนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลนั้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
" โรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยไม่สามารถรู้ตัวได้ว่าจะเกิดอาการขึ้นกับตนเองเมื่อไหร่และสถานที่ไหน ดังนั้นอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนเตรียมตัวรับมือให้พร้อมหากเราเจอผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันให้รีบโทรหาสายด่วน1669 และช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นด้วยการ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้แน่นอน"นายธนภาคกล่าว
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit