PwC แนะจับตาตลาดเกิดใหม่ผู้นำการขับเคลื่อนนวัตกรรม 'อีเพย์เมนต์’ โลกอนาคต

11 Aug 2016
PwC เผยตลาดเกิดใหม่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ระบบการชำระเงินของโลกในทศวรรษหน้า เหตุเป็นศูนย์รวมคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบดิจิทัล แถมความต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินสูง ขณะที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซยังขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมมองไทยหลังเริ่มใช้ระบบอีเพย์เมนต์ (e-Payment) อย่างเต็มรูปแบบดันอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซบูมแน่ แนะภาคธุรกิจและรัฐบาลเร่งศึกษา ทำความเข้าใจถึงประโยชน์ ความเสี่ยง และการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้ ก่อนนำระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ปลายปีนี้
PwC แนะจับตาตลาดเกิดใหม่ผู้นำการขับเคลื่อนนวัตกรรม 'อีเพย์เมนต์’ โลกอนาคต

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Emerging Markets: Driving the payments transformation ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ตลาดเกิดใหม่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ระบบการชำระเงินของโลก ส่วนหนึ่งเพราะประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลในการทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยพบว่า เกือบ 90% ของประชากรโลกที่อายุต่ำกว่า 30 ปีอาศัยอยู่ในตลาดนี้ โดยคนกลุ่มนี้ยังมีการทำธุรกรรมออนไลน์มากถึง 75% ส่งผลให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเพิ่มจำนวนผู้เล่นหน้าใหม่และเปลี่ยนโฉมการทำธุรกิจของผู้เล่นเดิมในตลาดอีกด้วย

"เรามองว่าอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆของตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านการชำระเงินให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอีเพย์เมนต์ในอนาคต อีกทั้งช่วยวางรากฐานการเติบโตให้กับตลาดอื่นๆทั่วโลก" นางสาว วิไลพร กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น ผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการบริการทางการเงินที่ทั่วถึงของผู้บริโภค การเพิ่มขึ้นของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และ การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐที่มีมากขึ้น โดยออกกฎระเบียบข้อบังคับบนพื้นฐานของการควบคุมความเสี่ยง แต่ก็ไม่ไปจำกัดขอบเขตความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดเกิดใหม่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็วในอนาคต

"การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยังเกิดจากจากการเชื่อมต่อของตลาดต่างๆ ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันส์ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับระบบการชำระเงินต่างๆ ซึ่งอิงไปกับกระแสโลก"

นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า ตลาดเกิดใหม่เป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบการชำระเงินโดยรวม เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked population) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ยังมีอีกมากมายมหาศาลในการดึงคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการเงิน

ความต้องการในการเข้าถึงบริการทางการเงิน กระตุ้นนวัตกรรมใหม่

ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า ประชากรโลกจำนวนมากถึง 2,ooo ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ขณะที่อัตราการการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ต่ำที่สุดส่วนใหญ่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ แม้ว่าเดิมทีธนาคารจะเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่ยังมีประชากรในโลกจำนวนมากที่อาศัยอยู่ห่างไกลความเจริญและมีช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำกัด

"ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่แปลกใจที่การขยายตัวของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีแบงก์กิ้ง (e-Banking) และ การใช้จ่ายผ่านมือถือ (Mobile money) จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในตลาดนี้ เพราะช่วยลดปัญหาสาขาแบงก์ที่ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล และตอบโจทย์ความต้องการการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทั้งกลุ่มที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และกลุ่มที่มีบัญชีแต่ยังนิยมใช้เงินสดหรือเช็คเงินสด (Underbanked) ได้เป็นอย่างดี"

อีเพย์เมนต์: โอกาสและความท้าทายของไทย

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ นางสาว วิไลพร กล่าวว่า หากไทยเริ่มใช้ระบบอีเพย์เมนต์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่จะหนุนให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน และไทยจะสามารถเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) ตามความตั้งใจของรัฐบาลได้ในที่สุด

"แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment พร้อมด้วยการดำเนินนโยบายการเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล จะหนุนให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโต อีกทั้งเชื่อว่า ปริมาณและมูลค่าการชำระเงินออนไลน์ของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ในทางกลับกันที่การทำธุรกรรมผ่านผู้ให้บริการชำระเงินจะลดลงเป็นลำดับ"

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซของไทย ณ สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.65% จากปีก่อน ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไตรมาส 1 ของปี 2559 มูลค่าระบบการชำระเงินผ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8.5 ล้านบาท

นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลตระหนักดีถึงความสำคัญของการใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมด้วยเงินสด โดยระบบอีเพย์เมนต์จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อ เงินฝาก และเครื่องมือทางการเงินอื่นๆอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับดูแลความปลอดภัยและกลลวงของเครือข่ายการชำระเงินใหม่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

ในด้านของผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่หลากหลายโดยธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นการรับชำระผ่านกระเป๋าเงินเคลื่อนที่ (Mobile wallet) บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรสะสมที่มีการเก็บข้อมูลการขายและข้อมูลการจ่ายเงิน และช่องทางอื่นๆ ซึ่งหากได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จะสามารถเข้ามาแทนที่การชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสดในที่สุด

"การประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในระบบการชำระเงิน จะเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ใหม่และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและตอบสนองการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในที่สุด อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนต้องศึกษาทำความเข้าใจถึง ความเสี่ยง รวมถึงมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับประชาชนและผู้บริโภค"

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit