นายเปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสตอรี่ล็อก และฟิกชั่นล็อก (Co-Founder & CEO of Storylog/Fictionlog) และทีมงานแถลงข่าวเปิดตัว "Fictionlog" ครั้งแรกในประเทศไทย !! สำหรับแพล็ตฟอร์มสำหรับการเขียนและอ่านนวนิยายออนไลน์ ที่นักอ่านสามารถเข้ามาซื้อเพื่อสนับสนุนนักเขียนได้โดยตรง อัพเดตบทต่อบท นักอ่านสามารถติดตามอ่านได้โดยไม่ต้องรอให้จบเล่ม โดยจุดยืนของ Fictionlog คือทำให้นักเขียนได้ส่วนแบ่งที่มากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้นักอ่านสามารถเข้าถึงนวนิยายคุณภาพได้มากกว่าเดิม พร้อมเปิดตัว Fictionlog Original Series โปรเจ็กต์นวนิยายใหม่สุด Exclusive จากนักเขียนคุณภาพ ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ติดตามอ่านได้ใน Fictionlog ที่แรก พร้อมร่วมพูดคุยกับนักเขียนในโปรเจ็กต์ คือ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล (นักเขียน พิธีกร และนักทำสารคดี) ,เกรียงไกร วชิรธรรมพร (ผู้กำกับฮอร์โมนเดอะซีรีย์) และ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ (บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM) ก่อนปิดท้ายงานด้วยหัวข้อเสวนา "โอกาสใหม่ของวงการนวนิยายไทยในยุค UGC" โดย เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ (Co-Founder & CEO of Ookbee) นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ TheMomentum.co) และทราย เจริญปุระ
นายเปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสตอรี่ล็อก และฟิกชั่นล็อก กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่าง Storylog และ Fictionlog คือ Storylog จะเป็นพื้นที่แบ่งปันเรื่องราว แนวประสบการณ์และความคิด ขณะที่ Fictionlog จะเป็นพื้นที่เขียน-ขายนวนิยาย ที่นักอ่านสามารถเข้ามาซื้อสนับสนุนนักเขียนได้โดยตรง แบบบทต่อบท
"เราตัดสินใจขยายจาก Storylog เข้าสู่ตลาดนวนิยายใน Fictionlog เพราะมองเห็นปัญหาและ โอกาส นักเขียนนวนิยายหลายคนเจอกับปัญหาที่ว่าไม่รู้ว่าจะไปเขียนนวนิยายลงออนไลน์ได้ที่ไหน ที่มีอยู่ในตลาดก็ไม่ตรงกลุ่มผู้อ่านมากนัก ทางทีมเลยเห็นโอกาสที่เราสามารถขยับอีกก้าวหนึ่ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้นักเขียนกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าในทีมงานเองก็มีแบ็คกราวน์เกี่ยวกับสายงานเขียนและวงการหนังสือด้วยตัวเอง เราจึงรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและสิ่งที่มันควรจะมี การพัฒนาแพลตฟอร์มนวนิยายขึ้นมาใหม่ครั้งนี้ เราจึงอยากสร้างคุณค่าให้เป็นมากกว่าแค่พื้นที่... แต่มันต้องเป็นแพล็ตฟอร์มกลางที่แฟร์และสามารถช่วยสนันสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมหนังสือ รวมถึงเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยสร้างรายได้ให้นักเขียนได้ด้วย
การมาของ Fictionlog จะเป็นประโยชน์ต่อวงการในทุกส่วน จุดยืนของ Fictionlog คือนักเขียนต้องได้รับส่วนแบ่งที่มากขึ้น นักอ่านจ่ายในราคาที่น้อยลง เราอยากให้แฟร์ที่สุดกับทุกๆ ฝ่าย เช่นเรื่องลิขสิทธิ์ Fictionlog จะไม่ถือครองสิทธิ์ใดๆ ในงานเขียน ผลงานทุกชิ้นจะเป็นลิขสิทธิ์ของนักเขียน 100% สำนักพิมพ์ต่างๆ สามารถเข้ามาเลือกนวนิยายที่ถูกใจในแพล็ตฟอร์ม หรือติดต่อกับนักเขียนโดยตรงเพื่อตีพิมพ์ได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าโมเดลนี้มันสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ผมเชื่อว่า Ecosystem มันจะเติบโตไปได้ ต้องช่วยดึงกันในทุกๆภาคส่วน"
นายเปรมวิชช์ยังกล่าวถึงสถานการณ์วงการหนังสืออีกด้วยว่า ณ เวลานี้ คือยุคของ UGC หรือ User generated content ซึ่งทุกคนเป็นผู้สร้าง content ได้อย่างง่ายดาย เพราะเทคโนโลยีพร้อมและเข้าถึงทุกคนได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้หลายๆวงการอาจจะต้องปรับตัว รวมถึงวงการหนังสือ
"ในอดีต ใครอยากเขียนหนังสือก็ต้องผ่านสำนักพิมพ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันนั้นไม่ใช่ นวนิยายดังๆ หลายๆ เรื่องก็เริ่มมาจากผู้เขียนแต่งเองลงเองผ่านอินเตอร์เน็ต บางเรื่องถึงโด่งดังถึงขนาดถูกหยิบมาทำมาเป็นภาพยนตร์ก็มี อย่าง The Martian เป็นต้น สถิติตลาด E-book ใน US ปี 2014 มีหนังสือ Self-published ที่นักเขียนขายเอง โดยไม่ผ่านตัวกลางถึง 31% และยอดขายทั้งหมดใน Kindle 40% ก็มาจากหนังสือเขียนเองขายเองเหล่านี้ ยุคนี้มันคือยุคของ "โอกาส" ที่ถ้าใครอยากจะเป็นนักเขียนไม่ได้ยากเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป เขียนเอง ขายเอง โปรโมตเอง ได้แทบทุกขั้นตอน Fictionlog คงมาช่วยเสริมในจุดนี้ ที่ถ้าใครมีของ เราเป็นอีกช่องทางให้มาปล่อยของกัน ปลดปล่อยจินตนาการกันได้เต็มที่"ด้านวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้เขียน "เถื่อนแปด" ใน Fictionlog กล่าวว่า Fictionlogเป็นโมเดลใหม่ที่น่าสนใจ และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเขียนไทยสามารถทำงานเขียนเป็นอาชีพได้อย่างเต็มตัว
"นักเขียนทุกวันนี้อาจจะชินกับการเขียนฟรีหรือเขียนแล้วได้เงินไม่มากนัก ทำให้นักเขียนส่วนใหญ่ไม่สามารถเลี้ยงชีพกับงานเขียนได้ แต่ถ้าโมเดลนี้มันเกิด แล้วมีคนเข้ามาใช้ Fictionlog ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้นักเขียนเกิดขึ้นในลักษณะอาชีพได้มากขึ้น ในเรื่องของการทำงานเมื่อเขียนแบบบทต่อบทจึงต้องมีการทำงานทุกอาทิตย์ ต่างจากเวลาปกติที่กว่าจะเขียนเล่มหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายเดือน แต่มาเขียนที่ Fictionlog เดือนนึงอาจจะได้บทหนึ่ง อีกเดือนก็ได้อีกบทหนึ่ง นักอ่านก็สามารถติดตามรอผลงานกันได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องเว้นระยะมากเป็นโมเดลใหม่ที่น่าสนใจดี"
ด้านเกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับชื่อดังจากซีรีส์ฮอร์โมน ซึ่งมีผลงานนิยายเรื่องแรกคือ "กานต์รัก" มองว่า Fictionlog จะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับนักเขียนรุ่นใหม่มากขึ้น
"ก่อนหน้านี้กว่าจะได้ตีพิมพ์หนังสือมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ทำให้เกิดชิ้นงานที่คัดกรองมาแล้วว่าผู้อ่านจะสนใจ Fictionlog น่าจะเป็นประโยชน์มากกับชิ้นงานทางเลือก อาจจะมีบ้างที่บางงานไม่ได้ถูกจริตในวงกว้าง ผู้เขียนก็จะได้เห็นชัดเจนว่างานของเรามีผู้อ่านมากน้อยแค่ไหน และเราอยากเป็นนักเขียนที่เขียนงานแบบไหนต่อไป น่าจะจุดประกายให้นักเขียนหน้าใหม่ๆ กล้าลองกล้าแหย่เท้าลงน้ำมากขึ้น แถมยังมีโอกาสได้ศึกษาตัวเองมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการเรียนรู้ศึกษาตัวเองคือสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการแจ้งเกิด"
ด้านวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM ซึ่ง่รวมเขียนนิยายเรื่องแรกคือ "วินาทีไร้น้ำหนัก" มองว่าการเกิดขึ้นของ Fictionlog คือแพลตฟอร์มหรือพื้นที่ตรงกลางที่อำนวยความสะดวกให้คนอ่านและคนเขียนมาพบกัน และช่วยเปิดโอกาสให้การสร้างและการเสพเกิดขึ้นได้มากมายไร้ขีดจำกัด
"เทคโนโลยีดิจิตอลจะมาลดอำนาจของคนกลางและสื่อกลาง จะทำให้คนสร้างคอนเทนต์และคนเสพคอนเทนต์มาพบกันโดยตรง คนอ่านจ่ายเงิน คนเขียนรับเงิน Fictionlog เป็นอีกสุดขอบของแนวทางธุรกิจหนังสือ อีกไม่นานผู้อ่านก็จะเคยชินกับหน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ส่วนผู้เขียนก็จะยึดติดกับความรู้สึกว่ามีหน้ามีตาของสิ่งพิมพ์กระดาษลดลง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวคำถามก็ย้อนกลับมาในเรื่องคุณภาพของคอนเทนต์บนดิจิตอล คุณภาพของคนสร้างและคนเสพ และจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ระบบธุรกิจหนังสือแบบเก่าจะยังดำรงอยู่ คนทำงานแบบเดิมจะยังมีอยู่ และจะคูลมากขึ้นกว่าเดิม การพิมพ์ การจัดจำหน่าย การคัดเลือกต้นฉบับ ก็จะพิถีพิถันและมีเวลาได้มากกว่าเดิม ผมเชื่อว่าการมีดิจิตอลเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ และเป็นเสรีภาพในการสร้างและเสพ จะช่วยวงการหนังสือโดยรวมทั้งหมด ให้ขยับขยายตัวเองไปด้วยกัน"
ขณะที่ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ TheMomentum.co กล่าวว่า Fictionlog จะช่วยเปิดมิติใหม่ของนวนิยายที่คนอ่านเป็นคนเขียน และสามารถมีส่วนร่วมในงานได้ด้วย
"แพล็ตฟอร์มนี้เป็นเรื่องใหม่มาก เพราะจะเป็นครั้งแรกที่คนเขียนจะได้รับฟีดแบ็กจากคนอ่านได้ในทันที และทำให้เกิดการโต้ตอบแบบทูเวย์คอมมูนิเคชั่น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นมิติใหม่ของนวนิยายที่คนอ่านเป็นคนเขียน มีส่วนร่วมในงานได้ด้วย และถ้า Fictionlog ไปได้ดี จะเกิดประโยชน์มากในแง่ที่นักเขียนสามารถเลี้ยงตัวเองโดยที่ไม่ต้องทำอาชีพอื่น คือเขียนเป็นบทๆแล้วได้เงินด้วย เหมือนร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่ไม่จำกัดพื้นที่ และเป็นเหมือนโซเชียลมีเดียย่อยๆ"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit