วันนี้ (1 สิงหาคม 2559) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 กระทรวงการคลังได้จัดกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อร่วม น้อมเกล้าฯ เฉลิมพระเกียรติแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว คือกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ณ พื้นที่สวนป่า "เบญจกิติ" ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่สวนป่าที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานครโดยสวนป่า "เบญจกิติ" จะเป็นส่วนเติมเต็มสวน "เบญจกิติ" ทั้งหมดให้มีความสมบูรณ์ทั้ง "ป่า" และ "น้ำ"
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า โครงการจัดสร้างสวน "เบญจกิติ" เกิดขึ้นจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 เห็นชอบให้ย้ายโรงงานยาสูบทั้งหมดไปอยู่ในส่วนภูมิภาค และให้พัฒนาพื้นที่เดิมให้เป็นสวนขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า "เบญจกิติ" บนพื้นที่ 450 ไร่ ของสวนเบญจกิติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ ออกแบบเป็น สวนน้ำตามแนวพระราชดำริ "ป่ารักน้ำ" ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการมาตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2547 และส่วนที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 320 ไร่ ออกแบบเป็นสวนป่า ภายใต้แนวคิด "สวนป่าเพื่อคนเมืองและธรรมชาติทั้งมวล"
สวนป่า "เบญจกิติ" แบ่งการจัดสร้างเป็น 3 ระยะ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการจัดสร้างสวนป่า "เบญจกิติ" ระยะ ที่ 1 แล้ว บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.4431 บางส่วน (พื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ) แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 61 ไร่ มีแนวคิดการออกแบบมุ่งเน้นความคุ้มค่าทางสังคมให้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง โดยเน้นความประหยัด ประโยชน์ และเรียบง่าย จึงให้มีสิ่งปลูกสร้างภายในสวนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยสวนป่า "เบญจกิติ" แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมพรรณไม้ ความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งจำลองลักษณะทางธรรมชาติให้เป็นสวนป่าในเมือง เป็นพื้นฐานในการปลูกจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนให้เห็นความแตกต่าง ของป่าไม้ในประเทศไทย
นอกจากความสำเร็จในการจัดสร้างสวน "เบญจกิติ" แล้ว กรมธนารักษ์ยังได้นำที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะอีกหลายแห่ง เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพจิตของประชาชน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนเมือง โดยการจัดสร้างสวนสาธารณะทั่วประเทศรวมจำนวน 1,600 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน โดยสวนขนาดใหญ่ เช่น อุทยาน "เฉลิมกาญจนาภิเษก" จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ อุทยาน "เบญจสิริ" กรุงเทพมานคร เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เป็นต้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit