ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางก่อนลงมติร่างรัฐธรรมนูญ

05 Aug 2016
วันนี้ เดวิด เคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพด้านความคิดเห็นและการแสดงออก กล่าวประณามการจับกุมและการตั้งข้อหาในการแสดงออกในที่สาธารณะและในโซเชียลมีเดียที่เกิดจากคำสั่งคสช. และพรบ.ว่าด้วยการออกประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้ พรบ. ประชามติฉบับดังกล่าวซึ่งถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ มีบทลงโทษการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประชาชนอย่างน้อย 86 รายถูกสอบสวนหรือไม่ก็ถูกตั้งข้อหาภายใต้ความพยายามของรัฐที่จะจำกัดการแสดงความเห็นของผู้ไม่เห็นด้วยก่อนการลงประชามติที่จะจัดทำในวันที่ 7สิงหาคม โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นักกิจกรรมหลายคนถูกตั้งข้อหาภายใต้พรบ. ประชามติ ว่ารณรงค์ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวการรณรงค์ดังกล่าว 1 รายยังถูกจับกุมและตั้งข้อหาว่าละเมิดพรบ. ประชามติอีกด้วย การละเมิดพรบ. ประชามติ มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี มีการตั้งค่าปรับในอัตราสูง รวมทั้งทำให้สูญเสียสิทธิในการลงคะแนนเสียงเป็นเวลา 10 ปีด้วย

"ผมรู้สึกกังวลอย่างยิ่งกับคำสั่งคสช. และพรบ. ประชามติที่จำกัดการแสดงความเห็นและการเข้าถึงข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญ" เดวิด เคย์ กล่าว "หลักการของการลงประชามติคือการเปิดให้มีการโต้เถียงอย่างเต็มที่ ก่อนจะให้สาธารณชนลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะเมื่อเรื่องที่จะลงประชามติเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประชาชนอย่างสูงสุด ดังนั้น จึงควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางพูดได้อย่างเสรี รวมทั้งเปิดให้มีการถกประเด็นต่างๆ ในเรื่องนี้อย่างละเอียด"

"แทนที่จะลงโทษการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้มีการพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยเพื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการลงประชามติอย่างมีข้อมูล" เดวิด เคย์ กล่าว

มาตรา 61 ของพรบ. ประชามติ ซึ่งบังคับใช้กระบวนการลงประชามติ มีบทลงโทษ "ผู้เผยแพร่ข้อความภาพ หรือเสียงที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง"

"ทุกคนต้องมีสิทธิแสดงความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง" ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ กล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดบังคับใช้พรบ.ประชามติ ดังกล่าว ยกเลิกการกล่าวหาทั้งหมดภายใต้พรบ.ดังกล่าวและคำสั่งคสช. ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอให้ปฏิบัติตามภาระผูกพันระหว่างประเทศในการรักษาสิทธิอย่างกว้างขวางที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเสรีซึ่งทุกคนได้รับประกันว่าพึงมีสิทธินั้นภายใต้มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง

การเรียกร้องของเดวิด เคย์ ได้รับการสนับสนุนจากไมน่า เคียอิ (Maina Kiai) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม, ไมเคิล ฟอร์สต์(Michael Forst) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และคณะทำงานว่าด้วยการคุมขังตามอำเภอใจ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit