ปภ.ประสาน 29 จังหวัด ภาคเหนือและอีสาน รับมือภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 19 - 21 สิงหาคม 59

22 Aug 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 29 จังหวัด แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ภาคเหนือ 13 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากอิทธิพลพายุโซนร้อน"เตี้ยนหมู่" ในช่วงวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วงวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2559 พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ซึ่งคาดว่าพายุนี้ จะเคลื่อนปกคลุมอ่าวตังเกี๋ย และหลังจากนั้นจะเคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 และประเทศลาวตอนบนต่อไป ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 29 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และบึงกาฬ ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จากฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำมิให้มีสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ และสำรวจสิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำ ริมน้ำไหลผ่าน เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th