สุภิญญา มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในระหว่างปีนี้ บริษัท ซีทีเอชฯ ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการบางช่องรายการได้ จนกระทั่งนำมาสู่การขอยุติการให้บริการในครั้งนี้ การดำเนินการของบริษัทฯมีลักษณะทยอยปิดกิจการเป็นระยะๆ จึงเห็นว่า การจัดทำแผนการเยียวยาผู้บริโภคในครั้งนี้ควรเป็นแผนการเยียวยาที่ครอบคลุมจำนวนผู้ใช้บริการทุกกลุ่มในทุกประเภทการให้บริการ อาทิ ผู้ใช้บริการที่รับชมผ่านช่องสัญญาณจานดาวเทียมไทยคม Ku-Band และรวมถึงผู้ใช้บริการของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมของบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด อันประกอบด้วยผู้ใช้บริการที่ใช้จานรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมในระบบ C-Band ซึ่งประสงค์จะรับชมต่อ แต่ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาด้วยกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมของบริษัท ซีทีเอชฯ ระบบ Ku-Band หรือได้รับกล่องรับสัญญาณแล้วแต่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท ซีทีเอชฯ แจ้งยุติการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่รับชมผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม Ku-Band ผู้ใช้บริการที่แจ้งความประสงค์จะขอรับเงินค่าแพ็กเก็จคืนและส่งเอกสารหลักฐานการขอคืนเงินไปยังบริษัทฯ แล้วแต่ยังไม่ได้รับการชดเชย เป็นต้น
"หากผู้รับใบอนุญาตเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง กสท.ควรกำหนดโทษในอัตราขั้นสูง เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้รับใบอนุญาตได้กระทำผิดเงื่อนไขตามประกาศ กสทช.และเงื่อนไขใบอนุญาตตลอดจนมีการกระทำที่ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในหลายกรรม ได้แก่ การยุติการให้บริการผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และการยุติการให้บริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อ 13 ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตบริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อีกทั้ง ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 24/59 ได้มีคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ซีทีเอชฯ ในกรณีที่บริษัทฯ มีการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band โดยไม่ได้แจ้งมาตรฐานทางเทคนิครวมถึงรายละเอียดอุปกรณ์โครงข่ายและลักษณะการเชื่อมต่อของอุปกรณ์โครงข่ายเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการดำเนินการผิดเงื่อนไขการอนุญาตตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. คำสั่งในครั้งนั้น กสท.ได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากฝ่าฝืน จะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราวันละ 20,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง กรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซีทีเอชฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการยกเลิกประกอบกิจการของโครงข่ายในกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ดิฉันเห็นว่าสำนักงานฯ ควรวางแนวทางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช.และเงื่อนไขใบอนุญาต เช่น การกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งแผนการยกเลิกประกอบกิจการและมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการก่อนพักให้บริการหรือหยุดให้บริการและการยกเลิกบริการ การนำส่งมาตรการเยียวยาก่อนการพักหรือหยุดบริการและยกเลิกบริการ ทั้งในรูปคำนวณเป็นตัวเงินและการชดเชยเป็นบริการหรืออื่น ๆ และการกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งล่วงหน้า เป็นต้น" สุภิญญา กล่าว
วาระอื่นน่าจับตาได้แก่ กสท.เตรียมพิจารณาโทษปรับทางปกครองกรณี บ.จีเอ็มเอ็มบี จำกัด(ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทซีทีเอชฯ) แจ้งเปลี่ยนระบบการให้บริการแพ็คเกจ Z PAY TV ทางกล่องรับสัญญาณ GMM Z ซึ่งมีผู้ร้องเรียน(ตั้งแต่เดือน ก.พ. – พ.ค. 59) ยังไม่ได้รับเงินค่าแพ็กเกจคืนจากการเยียวยาจำนวน 55 ราย นับตั้งแต่วันที่ไม่สามารถรับชมรายการได้ครบ 30 วัน ในอัตรา 1,000,000 บาท และปรับอีกวันละ 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขใบอนุญาตและประกาศที่เกี่ยวข้อง
"ปัญหาเดิมของซีทีเอชยังไม่จบ ตั้งแต่การยกเลิกบริการในกล่องของจีเอ็มเอ็ม ที่ กสท. ต้องมีบทลงโทษทางปกครองที่แรงขึ้น เพราะผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินคืน รวมถึงกรณีจานไทยคมที่ยังไม่สรุปเรื่องมาตรการเยียวยาเลยทั้งที่ยุติบริการไปแล้ว ส่วนปัญหาระลอกใหม่คือการยุติทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายนนี้ ยังไม่ส่งแผนเยียวยา ถ้าโครงข่ายฯ ยุติจะทำให้กล่องดูฟรีทีวีดิจิตอลไม่ได้ด้วย คนดูจะเดือดร้อน กล่องเดิมจะใช้งานไม่ได้เลย ดิฉันเสนอว่า กสท.ต้องจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังก่อนปล่อยให้จอดำ ถ้าไร้ความชัดเจน ผู้บริโภคจะยิ่งถูกลอยแพ ทางซีทีเอชต้องมีความรับผิดชอบกับสมาชิกด้วย" สุภิญญา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit