พยัคฆ์ไพร ชี้น้ำท่วมน่าน เหตุป่าต้นน้ำเกลี้ยง เหมือนผ้าขาวบาง ต้นข้าวโพดช่วยไม่ได้

23 Aug 2016
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร ในฐานะนักวิชาการผู้ชำนาญการพิเศษ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กรณีเกิดน้ำท่วม ดินถล่มหลายพื้นที่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.น่านนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนกรณีการทำลายป่าต้นน้ำผืนที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดในประเทศไทย จนภูเขาหลายลูกกลายเป็นเขาหัวโล้น วันนี้ผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวปรากฏชัดเจนแล้ว หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย และได้รับความเสียหายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เนื่องจากยังคงมีฝนตกลงมาเรื่อยๆ
พยัคฆ์ไพร ชี้น้ำท่วมน่าน เหตุป่าต้นน้ำเกลี้ยง เหมือนผ้าขาวบาง ต้นข้าวโพดช่วยไม่ได้

"เวลานี้องค์ประกอบของป่าต้นน้ำในจังหวัดน่าน ถูกทำลายไปหมดแล้ว ป่าต้นน้ำที่เคยมีองค์ประกอบสมบูรณ์ คือ มีชนิดพันธุ์ไม้หลายร้อยชนิด ตั้งแต่ไม้เรือนยอด ถึงพืชคลุมดิน ที่เปรียบเสมือนฟองน้ำ เมื่อฝนตกลงมา ฟองน้ำจะค่อยๆปล่อยน้ำให้ไหลลงมาช้าๆ จนกว่าน้ำจะหมด แต่วันนี้ เมื่อพื้นที่กลายเป็นเขาหัวโล้น จากป่าที่มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เหลือเพียงต้นข้าวโพด ที่แทบจะช่วยพยุงอะไรเอาไว้ไม่ได้เลย เปรียบเสมือนผ้าขาวบาง ฝนตกลงมากี่ห่า น้ำก็ออกมาเท่านั้น ไหลจากภูเขา ลงแม่น้ำสาขา จนน้ำล้นแม่น้ำ เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และหากยังมีฝนตก น้ำก็ยังคงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะพื้นที่ จ.น่านเพียงจังหวัดเดียว แม่น้ำสาขามีความเชื่อมต่อกัน และในหลายพื้นที่ก็มีปรากฏการณ์เดียวกันนี้ ทั้งที่ จ.แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ทั้งนี้ การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ก็มีหลักการเดียวกันนี้ คือ มวลน้ำลูกใหญ่มีการสะสมตัว และไหลรวมกันมาเรื่อยๆ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำนั้น เป็นเรื่องของการรับมือ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่เราได้ทำลายสิ่งป้องกันที่ดีที่สุดไปแล้ว" นายชีวะภาพกล่าว