UPA ลงนามจ้าง ERM เป็นที่ปรึกษาดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อขอ EIA ให้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ ขนาด 200 MW

19 Aug 2016
UPA ไม่หยุดนิ่ง! เดินหน้าอีกสเต็ปเซ็นสัญญาจ้าง ERM ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเป็นที่ปรึกษาดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อดำเนินการขอ EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ ขนาด 200 MW ที่เมียนมาร์ ด้านผู้บริหาร "อุปกิต ปาจรียางกูร" มั่นใจโครงการผ่านฉลุย หนุนผลงานโตต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต
UPA ลงนามจ้าง ERM เป็นที่ปรึกษาดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อขอ EIA ให้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ ขนาด 200 MW

นายอุปกิต ปาจรียางกูร กรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (UPA) เปิดเผยว่าวันนี้ (18 ส.ค.59) Myanmar UPA Co., Ltd. บริษัทย่อยของ UPA ที่ถือหุ้นอยู่ 100% ได้มีพิธีลงนามในสัญญาจัดจ้าง ERM-Siam Co., Ltd. เป็นที่ปรึกษาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อดำเนินการในการขอ ESIA (EIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติขนาด 200 เมกะวัตต์ ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังให้บริการลูกค้าที่มีโปรเจคในเมียนมาร์ ตั้งแต่ปี 1996 ทีมงาน ERM มีความรู้เรื่องภาษาท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย การทำ Habitat Mapping และมีประสบการณ์ด้านการจัดทำการศึกษาต่างๆ เช่น ESIAs เป็นต้น

"ERM เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานในเมียนมาร์เป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ ERM ยังสามารถประยุกต์ใช้ประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้เป็นอย่างดี มีทีมงานที่มีความพร้อมในทุกๆด้าน จึงมั่นใจได้ว่าโปรเจ็คต์โรงไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ที่เมียนมาร์จะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นายอุปกิต กล่าวในที่สุด

ที่ผ่านมา Myanmar UPA Co., Ltd. ได้เซ็นสัญญาจัดจ้าง WorleyParsons (Thailand) Ltd. เป็นวิศวกรที่ปรึกษา (Owner's Engineer) เพื่อเข้ามาดูแลโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว จึงมั่นใจว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จและเดินเครื่องจ่ายไฟได้เรียบร้อยแล้ว จะสร้างรายได้ที่ดีและสม่ำเสมอ พร้อมนำพาองค์กรให้เดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน มั่นคงตามวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าคือเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในเมียนมาร์และโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้สามารถเอาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีระยะเวลาสัมปทานถึง 30 ปี

ในปัจจุบัน UPA ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่เมืองกันบก กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ และความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวเมียนมาร์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ UPA มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในอนาคต