ผนึกพลัง "เครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน" ปี 2 เยาวชน 13 กลุ่ม ชู 3 ประเด็นร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และจัดการขยะ เป็นคำมั่นสัญญาร่วมพัฒนาเมืองน่านกับผู้ใหญ่ ด้านองค์กรสนับสนุน เตรียมเชื่อมภาคีเครือข่ายขยายผลต่อ
โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ซึ่งนับเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network ได้มีการจัดงานมหกรรมเยาวชน "พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด" ปีที่ 2ดำเนินงานโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชน ในโครงการ ในฐานะพลังพลเมืองคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอโครงงานในการร่วมพัฒนาชุมชนให้ชาวน่านร่วมเรียนรู้ โดยมีนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนักวิจัยชุมชน ภาคีเครือข่ายจากต่างจังหวัด เครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน
บรรยากาศงานมหกรรมฯ ในปีนี้คึกคักตั้งแต่ช่วงบ่ายเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านได้เริ่มเคลื่อนขบวน จากโรงแรมเทวราชสู่ข่วงเมือง ขบวนประกอบด้วยการแต่งกายชุดพื้นเมือง การแสดงตระการตา มีการฟ้อนรำ ตีกลอง ตุงชัย ตุงภัย สู่ข่วงเมืองน่าน บอกเล่าประเด็นปัญหาเมืองน่านเพื่อกระตุ้นให้ชาวเมืองน่านตื่นตัว / เสวนา "งอกเงย งดงาม เพื่อน่านบ้านเกิด : บทบาทของพี่เลี้ยงที่ปรึกษา ผู้นำชุมชนและผู้ปกครองในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนสู่สำนึกพลเมือง" / ช่วงเยาวชนน่านเล่าขานพลังการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ 13 โครงการ / ช่วงการแสดงต่างๆ อาทิ การแสดงตีกลองสะบัดชัย โดยเครือข่ายเยาวชนาฏยเภรีสลีเชียงกลาง ฟ้อนปั่นฝ้าย จากเยาวชนบ้านหนองบัว เป็นต้น
และวาระสำคัญคือเยาวชนได้มีการส่งมอบคำมั่นสัญญา ว่าจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่ ใน 3 ประเด็นที่ได้เรียนรู้ในปีนี้ โดยคาดหวังว่าจะถูกนำไปบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์เมืองน่าน ซึ่งเชื่อมโยงกับการจัดการเมืองน่าน 18 เมนู สิ่งที่เยาวชนนำเสนอให้เข้าไปอยู่ใน 5 เมนู ได้แก่เมนูที่ 3 ป่าชุมชนเศรษฐกิจและใช้สอย เมนูที่ 4 ชุมชนดูแลป่า เมนูที่ 5 สานพลังประชารัฐพัฒนาเศรษฐกิจน่าน เมนูที่ 6 ศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.น่าน และเมนูที่ 10 สวมหมวกให้ภูเขาสวมรองเท้าให้ตีนดอย อาตมาก็หวังว่าปีนี้ผู้ที่เข้ามาร่วมงานจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับเด็ก"
นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวให้โอวาทกับเยาวชนว่า... "ผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นความตั้งใจของลูกหลานคนเมืองน่าน ที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์ สืบทอดองค์ความรู้ และภูมิปัญญาในการรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมน่านให้เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของสังคมน่านต่อไป เมื่อเห็นลูกหลานละอ่อนน่านแสดงพลังพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองน่านแล้ว ในโอกาสนี้ผมอยากขอเชิญชวนให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสนับสนุนทั้งทรัพยากรและกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชน เพื่อให้สังคมเมืองน่านจะได้มีกำลังคนรุ่นต่อไปที่จะสืบต่อคุณค่าสิ่งดีๆ เพื่อบ้านเมืองต่อไป และผมคิดว่าในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องสนับสนุนและก็ดูแลเยาวชนชุดนี้ให้เขาเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า คนรุ่นใหม่ก็ต้องคิดขึ้นมาอีกว่าอะไรที่จะมาทำลายความเป็นน่านของเราบ้าง"
พระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม) ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) กล่าวว่า "การทำงานของโครงการน่านในปีนี้ ยังคงมุ่งเป้าไปที่ "โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของการปลูกฝังสำนึกของคนรุ่นใหม่ ตามเป้าหมายของโครงการก็คือ เราอยากเห็นคนต้นแบบของคนเมืองน่านสองเราอยากเห็นต้นกล้า และสามเราอยากจะเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดี ที่จะมาจะเป็นต้นกล้าและต้นแบบในอนาคต การจัดงานครั้งนี้ถือว่าเราจัดเพื่อเป็นการปลุกสำนึกหรือกระตุ้นเตือนให้น้องๆ เยาวชนตลอดจนกลุ่มคนที่อยู่ในเมืองน่านที่เกี่ยวข้อง ได้มารู้มาเห็นว่าน่านวันนี้ ไม่เหมือนน่านวันก่อนๆ เพราะน้องๆ เยาวชนเขาตื่นตัว และน้องๆ ก็พร้อมที่จะรับไม้ส่งที่ดีของน่าน ที่เราเรียกว่าครูภูมิปัญญา
โครงการนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ทำให้เมืองน่านได้แกนนำเยาวชนจำนวน 86 คน 13 โครงการ ที่ผ่านเรียนรู้ชุมชนน่าน ใน 8 อำเภอ สนใจเมืองน่านใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประเด็นวัฒนธรรมประเพณี และประเด็นการจัดการขยะ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับคนน่าน เยาวชนหลายคนสะท้อนว่าบางครั้งก็น้อยใจ ที่มีคนบอกว่าเราเมืองน่านเป็นเมืองภูเขาหัวโล้น เยาวชนกำลังแสดงให้เห็นว่าพลังของน้องๆ เยาวชนจะทำให้ภูเขาหัวโล้น เป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยสีเขียวยังไม่มีอยู่ สองเรื่องของการสืบสานวิถีวัฒนธรรมอันดีงามของความเป็นน่าน ซึ่งน่านเราเป็นเมืองวัฒธรรรมและเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตด้วย ถ้าเราไม่มีการส่งไม้ต่อ ไม่มีการปลูกฝัง ไม่มีการสืบทอด ก็กลัวว่าวันหนึ่งความเป็นน่านก็จะหายไป วันนี้เราเห็นแล้วว่าพลังของเยาวชนได้มาสืบสานวัฒนธรรมความเป็นน่านได้ ที่สำคัญในเรื่องความสะอาด น่านเราวันนี้มีการเปลี่ยนแปลง มีคนข้างนอกเข้ามา หากเราได้ปลูกฝังสำนึกในเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัย หากเราไม่เร่งปลูกฝังวันนี้ วันหนึ่งเกรงว่าความเป็นน่านและความสดใสของเมืองน่านก็จะหมดไป เป็นการปลูกฝังให้น้องๆ เยาวชนได้เป็นต้นแบบ ตัวอย่างให้กับสังคม ในการที่จะเสนอตัวว่าวันนี้เราพร้อมที่จะช่วยกันดูแล รักษา คุ้มครอง เมืองน่าน ที่สำคัญเราพร้อมที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เมืองน่านของเราให้น่าอยู่ การสร้างเยาวชนกลุ่มนี้ทำให้เราเชื่อมั่นว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า จังหวัดน่านจะมีเยาวชนกลับมาเป็นกำลังสำคัญของเมืองน่านอย่างแน่นอน"
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ริเริ่มโครงการ Active Citizen ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกสื่อสารสำหรับเปลี่ยนจิตสำนึกประชาชนให้เป็นจิตสำนึกใหม่ และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกต่อส่วนรวมด้วยตระหนักถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังท้าทายทั่วโลก เกิดคลื่นอารยธรรมของยุคที่ดำเนินเข้าสู่ความเป็นสังคมฐานความคิด ที่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลางและมีสุขภาวะองค์รวมเป็นเป้าหมาย
สสส. ได้ประสานความร่วมมือและพัฒนางานร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยร่วมกันสร้างพลเมืองเยาวชนใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ศรีสะเกษ น่าน และ ภูมิภาคตะวันตก (กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี และ สมุทรสงคราม) โดยใช้วิธีเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชนและใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการสร้าง Active Citizen ที่มีทักษะและสำนึกต่อส่วนรวมที่อยู่ในเนื้อในตัวเยาวชนเป็นการบวนการทำงานเชิงลึก กับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ที่มีบทบาทสร้างการเรียนรู้ และสนับสนุนให้เกิด Active Citizen ในจังหวัด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันเป็นกำลังและร่วมสร้าง Active Citizen ให้กับประเทศเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งและน่าอยู่ต่อไป..."
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงการขยายผลว่า" และจังหวัดน่าน ถือว่าเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดที่อยู่ในโครงการ Active Citizen ก็กำลังขับเคลื่อน "ความเชื่อ" นี้ ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยมีเยาวชนทั้ง 13 โครงการเป็นตัวอย่างจากผลของการ "สร้างคน" นั่นเอง ความสำเร็จจาก 1 จังหวัด และเพิ่มมาอีก 3 จังหวัด เป็น 4 จังหวัดนั้น บอกได้ว่า "กระบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง" ของเรามาถูกทางแล้ว นั่นคือ"การพัฒนาคน" เรามีโมเดล มีเครื่องมือ มีวิธีการในการพัฒนาพลเมืองรุ่นใหม่ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง มีกลุ่มคนที่มีทักษะในการทำงานทั้ง 4 จังหวัด คำถามต่อไปคือ นี่เป็น "โอกาส" ที่ดีหรือไม่ ที่เราจะขยายแนวคิด วิธีการในการสร้างคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการ "พัฒนาคน" ไปยังจังหวัดอื่น ซึ่งคงเป็นคำถามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาคิดทบทวนว่า ถ้าต้องการจะขยายออกไป จะทำอย่างไร
ทั้งนี้มูลนิธิสยามกัมมาจล ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เราเป็นเพียงหน่วยที่สร้าง "นวัตกรรม" และพิสูจน์แล้วว่า เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาคนรุ่นใหม่ได้จริง คือ เป็นทั้งคนดี ทำงานเป็น มีสำนึกพลเมือง ดังนั้นหากจะมีการขยายผลต่อ เราอาจจะต้องมองหาภาคีเครือข่าย ที่จะมาร่วมเรียนรู้และขยายผลต่อ เราคงต้องสร้างนวัตกรรมเรื่องการขยายผลต่อไป เพื่อสร้างพลเมือง สร้างชุมชนเข้มแข็งให้ประเทศไทยต่อไป"
เยาวชนโครงการในปี 2 ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ ได้แก่...สามเณรไมค์ - ศุภฤกษ์ กันทะกาลัง แกนนำเยาวชนโครงการสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้ง เผยว่า" "ตอนแรกก็รู้สึกแย่ เพราะประวัติมันยาว แต่พอได้อ่านและศึกษา ก็เริ่มน่าสนใจ และชอบในที่สุด อยากให้ทุกคนที่มาที่วัด ได้รู้ประวัติความเป็นมาอย่างแท้จริง จะได้อนุรักษ์และรักษา เพราะบางคนก็แค่มากราบไหว้ แต่ไม่รู้ความหมาย ตอนแรกก็มีอะไรหลายอย่างที่ผมไม่รู้ เช่น พระวิหาร ผมก็ไม่คิดว่ามีปริศนาธรรม ประวัติความเป็นมา แต่เมื่อมารู้ จึงเกิดความรู้สึกอยากอนุรักษ์ โดยการส่งต่อให้ผู้อื่นได้รู้ตามด้วย"
นิ - นางสาวจิรัชญา โลนันท์ เยาวชนแกนนำโครงการศึกษาเส้นทางธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนา สะท้อนการเรียนรู้ว่า ... " ตอนเป็นเด็กหนูได้เข้าไปเก็บเห็ดป่า ได้เข้าไปเล่นน้ำ ป่าเหมือนสวนสนุกของพวกหนู พอมาวันนี้พ่อแม่ก็ไม่ได้สอนให้ลูกๆ เข้าป่า เด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าอะไรในป่าที่กินน้ำ เห็ดอะไรที่กินได้ หน่อไม้อะไรกินได้ จึงคิดว่าเราจะคิดอย่างไรให้เด็กๆ เข้าป่า จึงคิดทำโครงการนี้กันขึ้นมาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กในชุมชนและผู้สนใจเข้าไปสำรวจป่า กระแสภูเขาหัวโล้น ว่าคนน่านทำลายป่า พ่อแม่ ทำเกษตรเป็นผู้ทำลายป่าก็รู้สึกเสียใจ พวกหนูก็จะขอเป็นตัวแทนของคนน่านที่จะบอกว่าเราไม่ได้เป็นผุ้ทำลายป่า แต่เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไว้เหมือนกันค่ะ..."
ปุ๊กกี้ - นางสาวจิราภา เทพจันตา แกนนำเยาวชนโครงการสืบสานศิลปะการฟ้อนรำไตลื้อและดนตรีพื้นบ้านเผยว่า ""หนูสังเกตว่าเมื่อจัดกิจกรรมงานไทลื้อประจำปี มีแต่คนรุ่นอายุ 40 กว่าขึ้นไปที่จะแต่งตัวไทลื้อ แต่คนส่วนมากหรือเด็กๆ ก็แต่งชุดธรรมดาไปร่วมงาน ก็เลยไปถามเด็กๆ ว่าทำไมไม่แต่งชุดไทลื้อมางานกัน น้องๆ บอกว่าไม่แต่งหรอก เพราะอายเขา ก็เลยมาเป็นแรงบันดาลใจให้พวกหนูมาทำโครงการค่ะ ถึงแม้พวกหนูจะพอรำเป็นบ้าง แต่คิดว่าถ้าเราจะสืบทอดการแสดงต้องให้ถูกต้องตามแบบแผนของชาวไทลื้อ พวกหนูก็ต้องลงไปเก็บข้อมูลทั้งท่ารำ ประวัติ การแต่งกาย โดยไปสอบถามจากผู้รู้ในหมู่บ้านทำให้รู้ว่าท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากท่าทางการทอผ้าของผู้หญิงไทลื้อในอดีตค่ะ ทำให้หนูได้เรียนรู้ความหมาย เมื่อก่อนเวลาหนูฟ้อนก็ฟ้อนไปเรื่อย ไม่รู้ความหมาย แต่วันนี้ทำให้พวกหนูรู้ถึงความเป็นมาของท่ารำ ที่สอดแทรกวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ รู้สึกภูมิใจในความเป็นไทลื้อ ทำให้รู้สึกรักศิลปะบ้านเรามากขึ้น และรู้สึกรักบ้านเกิดมากขึ้นค่ะ"และโครงการนี้จุดประกายให้ปุ๊กกี้เลือกไปเรียนต่อที่โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา ที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะการแสดงไทลื้อ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเธอทีเดียว
สมัครเข้าร่วมโครงการในปีที่ 3 ได้ที่ www.scbfoundation.com / เฟสบุ้ค : มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้วัดโป่งคำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit