มรภ.สงขลา อบรมจัดการเรียนรู้ด้วยหุ่นยนต์ขนาดเล็ก รับลูกนโยบายปฏิรูปการศึกษา-สร้างเครือข่ายพัฒนาครู

15 Aug 2016
มรภ.สงขลา จับมือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อบรมจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพิ่มประสิทธิภาพการสอนด้วยสะเต็มศึกษา สนองนโยบายรัฐเร่งปฏิรูประบบความรู้สังคมไทย
มรภ.สงขลา อบรมจัดการเรียนรู้ด้วยหุ่นยนต์ขนาดเล็ก รับลูกนโยบายปฏิรูปการศึกษา-สร้างเครือข่ายพัฒนาครู

ดร.กันตภณ มะหาหมัด รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ในวันที่ 15-16 ส.ค.59 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ว่า เป็นการทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ ขณะเดียวกันทางคณะฯ ก็มีการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี และมีนโยบายบริการวิชาการในด้านนี้อยู่แล้ว โดยทั้งสองสถาบันได้ประชุมร่วมกันเมื่อประมาณ 4 เดือนที่แล้ว ในการนำเอาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์มาใช้ในการสอนร่วมกับสะเต็มศึกษา (STEM) ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ตามการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ให้กระจายไปสู่ทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างรูปแบบพัฒนาครูสายสามัญ ครูอาชีวศึกษา และอาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษา ในการขยายผลต่อไปในวงกว้าง นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างเครือข่ายการพัฒนากำลังคนระหว่างสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ดร.กันตภณ กล่าวว่า หลักสูตรการฝึกอบรม ประกอบด้วย 1. เทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ และการจัดการเรียนรู้แบบ STEM 2. การใช้หุ่นยนต์ประกอบการเรียนรู้ 3. การใช้เครื่องมือคิด และออกแบบสื่อเพื่อพัฒนาการคิด พร้อมทั้งบรรยายในหัวข้อ ทิศทางและนโยบายในการพัฒนากำลังคนเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.สมมารถ ขำเกลี้ยง วิธีการสอนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และ STEM สำหรับเด็กด้านการออกแบบและเทคโนโลยี โดย ดร.กันตภณ มะหาหมัด ส่วนประกอบและหน้าที่ของส่วนประกอบของหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมคำสั่งควบคุมให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ โดย อ.อนุชิต นาคกล่อม จากศูนย์วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อจัดการเรียนการสอน ออกแบบและสร้างสรรค์หุ่นยนต์ด้วยตนเอง โดยจัดอบรมฟรี รับผู้สนใจจำนวนจำกัดเพียง 30 คนเท่านั้น

"โครงการที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยปฏิรูประบบความรู้ของสังคมไทยด้วยการยกระดับองค์ความรู้ให้ได้มาตรฐานสากล ปฏิรูประบบการผลิตครูให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ และยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง สร้างแรงจูงใจให้คนเรียนดีและมีคุณธรรมเข้าสู่วิชาชีพครู จัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา เปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต" รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ กล่าว