นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในงาน Thailand Overseas Investment Forum 2016 ซึ่งเป็นงานสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลการลงทุนรวมทั้งโอกาสและลู่ทางการลงทุนไทยในอาเซียน ว่า ในปี 2560 บีโอไอจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ 2 แห่ง ที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งทั้งสองประเทศถือเป็นแหล่งลงทุนที่นักธุรกิจไทยสนใจจะเข้าไปลงทุน และภายในปี 2561 บีโอไอก็จะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศแห่งที่ 3 ที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
"หลายปีที่ผ่านมา บีโอไอได้เน้นบทบาทการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งการศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุน ตลอดจนการจัดกิจกรรมพานักธุรกิจไทยไปดูลู่ทางการลงทุน สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการนำผลการศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านการลงทุนมาถ่ายทอดให้กับนักธุรกิจไทย ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจขั้นตอนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ รับทราบถึงอุปสรรคและปัญหา รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติของแต่ละประเทศอย่างถูกต้อง เพราะในอนาคตมีแนวโน้มที่นักธุรกิจไทยจะออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดทำโครงการ "สร้างนักลงทุนไทยไปต่างประเทศ" ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 และมีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรมาแล้ว 11 รุ่นโดยมีจำนวนนักลงทุนที่ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น 409 รายและมีนักลงทุนไทยในจำนวนดังกล่าว ออกไปลงทุนจริงแล้ว 88 ราย ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามและเมียนมา ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเกษตรแปรรูป
โอกาสและลู่ทางการลงทุนใน 8 ประเทศอาเซียน
อินโดนีเซีย : รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในประเทศ จึงเป็นธุรกิจที่นักลงทุนไทยมีโอกาสจะเข้าไปลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป นักลงทุนไทยควรใช้ความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีการผลิต ความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ ขณะเดียวกันอินโดนีเซียยังมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากและมีทักษะระดับปานกลาง จึงเหมาะสมในการลงทุนภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก
เมียนมา : ภายหลังเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มสดใสสำหรับนักลงทุนไทย ขณะเดียวกันการแข่งขันทางธุรกิจในเมียนมายังอยู่ในระดับไม่รุนแรง ทำให้มีช่องว่างที่จะเข้าไปทำธุรกิจอีกมาก อุตสาหกรรมที่เหมาะในการเข้าไปลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร หรือเกษตรแปรรูปเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออก อาทิ ปลาหรือกุ้งแช่แข็ง
กัมพูชา : มีอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมหลักและเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ซึ่งการผลิตรองเท้าจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของกลุ่มนี้ จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย ที่จะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตรองเท้าเพื่อการส่งออก รวมทั้งจัดตั้งบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากไทยเพื่อจำหน่ายในกัมพูชา
เวียดนาม : มีธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมหลัก สินค้าที่ผลิตในเวียดนามเป็นสินค้าที่ตัดเย็บไม่ซับซ้อนรูปแบบการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนไทยคือ การตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าโดยรับคำสั่งจากลูกค้าในไทยหรือจากต่างประเทศเพื่อส่งออก รวมทั้งจัดตั้งบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากไทยเพื่อจำหน่ายแก่ตลาดในประเทศเวียดนาม
บรูไน : มีนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยต้องการให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีต้นทุนในการทำธุรกิจค่อนข้างต่ำ ทั้งค่าสาธารณูปโภค ราคาน้ำมัน และอัตราภาษี อุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลแปรรูปเป็น เนื่องจากยังมีการลงทุนน้อยมาก
ฟิลิปปินส์ : เป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยมีผู้บริโภคมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน จากประชากรกว่า 100 ล้านคน ธุรกิจอาหารแปรรูปจึงเป็นธุรกิจที่น่าเข้าไปลงทุนเนื่องจากปัจจุบันอาหารแปรรูปยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภครวมถึงยังมีโอกาสที่ดีในการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ด้วย
มาเลเซีย : เหมาะที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล เนื่องจากมาเลเซียกำลังพยายามที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการฮาลาลในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกไปอินโดนีเซียที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกได้
ลาว : เป็นประเทศที่มีต้นทุนด้านแรงงานและค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำ สินค้าที่ผลิตจากไทยได้รับความนิยมมากในลาว โดยอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเข้าไปขยายการลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร อาหารแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าเป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit