ความสำเร็จคือบทพิสูจน์ศักยภาพของคนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ เมื่อมีโอกาสไปยืนอยู่ในสนามแข่งระดับโลกในรายการ World Solar Challenge 2015 ที่เต็มไปด้วยทีมสุดยอดฝีมือจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
จุดเริ่มต้นของการสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของอาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วทส.) เมื่อครั้งที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการ World Solar Challenge สมัยที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ความประทับใจในสุดยอดเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมทั้งในการออกแบบและการสร้างรถยนต์ที่อาศัยเพียงพลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน จุดประกายความหวังว่าสักวันจะต้องส่งทีมจากประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในรายการนี้ให้ได้
ในฐานะผู้เขียน พ็อคเก็ตบุ๊ค "STC-1 STORY ถ้าไม่กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย เราก็ไม่ใช่มืออาชีพ" และผู้จัดการทีม ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดี คณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1 เพื่อบอกเล่าที่มาที่ไป และประสบการณ์ในสนามแข่ง World Solar Challenge 2015 ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรายการเก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ.1987เนื่องจากวิกฤติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของโลก โดยรถแต่ละคันจะต้องเดินทางข้ามทวีปออสเตรเลีย จากเมืองดาร์วินทางภาคเหนือจนถึงเมืองแอดิเลดซึ่งอยู่ทางใต้สุด ระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ภายในเวลา 50 ชั่วโมง
เสียงดังก้องในสนามวันนั้นยังคงดังในใจไม่มีวันลืมจนถึงวันนี้ เมื่อมีการประกาศว่า "คันต่อไปเป็นครั้งแรกและทีมแรกของประเทศไทย จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ชื่อทีม STC-1 เข้าแข่งขันในรุ่น Challenger"
ชัยชนะสำหรับทีมน้องใหม่ที่มีงบประมาณในการสร้างไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับทีมที่มีผู้สนับสนุนรายใหญ่ กลับไม่ใช่การคว้ารางวัลมาครอบครอง หากเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือ มีโอกาสโบกธงชาติไทย เหนือเส้นชัยบนแผ่นดินออสเตรเลีย อย่างไม่น้อยหน้าทีมชาติใดในโลก
หาซื้อพ็อคเก็ตบุ๊ค "STC-1 STORY ถ้าไม่กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย เราก็ไม่ใช่มืออาชีพ" ได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำ อาทิ ซีเอ็ดบุ๊ค นายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายได้จากการจำหน่ายสนับสนุนการสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์ คันที่ 2 เพื่อไปแสดงศักยภาพอีกครั้งในการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 ปีหน้าที่ประเทศออสเตรเลีย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit